โควิด-19

วิเคราะห์ "โอไมครอน" ระบาด ย้ำไม่ไก่กาแบบไข้หวัด แนะวิธีป้องกันตัวเอง

วิเคราะห์ "โอไมครอน" ระบาด ย้ำไม่ไก่กาแบบไข้หวัด แนะวิธีป้องกันตัวเอง

16 ม.ค. 2565

หมอขวัญชัยวิเคราะห์ "โอไมครอน" ระบาดแบบละเอียด แนะถึงจะไม่รุนแรงแต่ไม่ไก่กาแบบไข้หวัดแน่นอน พร้อม บอกวิธีอยู่กับโควิดอย่างไรให้ปลอดภัย

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo

การอยู่กับโควิดอย่างปลอดภัย (27)

โอมิครอนระบาดเหมือนกัน แต่ทำไมผลลัพธ์แตกต่างกัน?
วันนี้ลองวิเคราะห์สถานการณ์เกือบ 2 เดือนหลังการระบาดของโอมิครอนในหลายประเทศ เพื่อดูว่ามีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างไร และมีสาเหตุจากอะไร

รูปที่ 1 แสดงจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันต่อประชากร 1 ล้านคน (เฉลี่ย 7 วัน) จะเห็นว่าโอมิครอนเริ่มระบาดในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และไทยตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2-3 ของเดือนธ.ค. 64 เป็นต้นมา แต่อัตราการเพิ่มขึ้นมีความแตกต่างกันมากในแต่ละประเทศ โดยออสเตรเลียมีอัตราการระบาดสูงสุด รองลงมาเป็นสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาตามลำดับ ส่วนประเทศไทยมีอัตราการระบาดต่ำที่สุด แต่พอจะสังเกตได้ว่าการระบาดมีแนวโน้มเริ่มทรงตัวในทั้ง 4 ประเทศ
 

วิเคราะห์ \"โอไมครอน\" ระบาด ย้ำไม่ไก่กาแบบไข้หวัด แนะวิธีป้องกันตัวเอง

รูปที่ 2 แสดงจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันต่อประชากร 1 ล้านคน (เฉลี่ย 7 วัน) จะเห็นว่าในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดสูงขึ้นเรื่อยๆแม้จะเพิ่มขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับช่วงที่เดลต้าระบาด แต่ในประเทศไทยกลับมีจำนวนผู้เสียชีวิตค่อนข้างคงที่หรือลดลงเล็กน้อยด้วยซ้ำไป

วิเคราะห์ \"โอไมครอน\" ระบาด ย้ำไม่ไก่กาแบบไข้หวัด แนะวิธีป้องกันตัวเอง


รูปที่ 3 แสดงอัตราการได้รับวัคซีนของประชาชนใน 4 ประเทศ จะเห็นว่าได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 60% แล้ว โดยออสเตรเลียสูงสุด ตามด้วยสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไทยตามลำดับ
น่าสนใจว่าใน 4 ประเทศนี้โอมิครอนระบาดในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบแล้วเหมือนกัน แต่ทำไมผลลัพธ์ออกมาแตกต่างกัน จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญหลายสำนัก พอจะหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความแตกต่างได้ดังนี้

 

วิเคราะห์ \"โอไมครอน\" ระบาด ย้ำไม่ไก่กาแบบไข้หวัด แนะวิธีป้องกันตัวเอง

ศ.นพ.ขวัญชัย ได้วิเคราะห์มาตรการ และแนวทางสำหรับให้ประชาชนรับมือของแต่ประเทศในการรับมือการระบาดของ "โอไมครอน" ดังนี้ 

1. อัตราการระบาดเป็นสัดส่วนผกผันกับความเข้มงวดของนโยบายในการควบคุมการระบาดของประเทศนั้นๆ รวมทั้งความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในการป้องกันการติดเชื้อ
- ออสเตรเลียประกาศนโยบายปล่อยให้ประชาชนติดเชื้อโอมิครอนตามธรรมชาติ (permissive infection) เนื่องจากมั่นใจว่าประชาชนได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่สูงมากและคิดว่าโอมิครอนมีความรุนแรงน้อยลง จึงไม่แปลกที่เห็นอัตราการระบาดที่สูงมาก และน่าจะสูงที่สุดในโลก
- สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรผ่อนคลายมาตรการการควบคุมโรคมาซักระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ช่วงกลางปีที่เดลต้ากำลังระบาดไปทั่วโลก เนื่องจากมั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ทำให้มีอัตราการระบาดค่อนข้างสูง
- ประเทศไทยมีอัตราการระบาดค่อนข้างต่ำ เนื่องจากใช้นโยบายการควบคุมโรคค่อนข้างเข้มงวดเนื่องจากเริ่มฉีดวัคซีนช้ากว่าประเทศอื่น แต่ก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการบางส่วนเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มในช่วงปลายปี 2564 ที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเพราะความมีวินัยและความร่วมมือร่วมใจของคนไทยในการป้องกันการติดเชื้อที่เข้มงวดกว่า 3 ประเทศที่เหลือ


2. อัตราการเสียชีวิตเป็นสัดส่วนโดยตรงกับการระบาดของเดลต้าก่อนที่โอมิครอนจะเริ่มระบาด
- จากรูปที่ 1 จะเห็นว่าในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อจากการระบาดของเดลต้าค่อนข้างสูง ทำให้ยังมีผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
- ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของเดลต้าได้ค่อนข้างดี ทำให้ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ส่วนออสเตรเลียแม้ว่าจะควบคุมการระบาดของเดลต้าได้ค่อนข้างดี แต่สาเหตุหลักที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นน่าจะเป็นจากปัจจัยในข้อ 1 และ 3


3. อัตราการเสียชีวิตเป็นสัดส่วนโดยตรงกับอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อ แม้ว่าโอมิครอนอาจจะก่อโรคที่ไม่รุนแรงเท่าเดลต้า แต่ถ้าปล่อยให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป ย่อมมีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมีอาการหนัก ซึ่งถ้าเพิ่มขึ้นมากก็อาจจะเกินศักยภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยของประเทศได้ ดังตัวอย่างในออสเตรเลีย ซึ่งในที่สุดก็ต้องเพิ่มมาตรการการควบคุมโรคเพื่อลดอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ


4. อัตราการเสียชีวิตเป็นสัดส่วนโดยตรงกับจำนวนผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง (อายุมากหรือมีโรคเรื้อรัง) ซึ่งเห็นได้ชัดในสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนเกือบ 40% ของประชากร หรือประมาณ 100 กว่าล้านคน จึงมีโอกาสที่คนเหล่านี้จะติดเชื้อ มีอาการหนัก และเสียชีวิตได้ แม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าโอมิครอนก่อโรคที่รุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคไก่กาเทียบเท่ากับไข้หวัดธรรมดาเหมือนที่หลายคนพยายามชักจูง โดยยังมีความสามารถที่จะก่อโรครุนแรงได้ในประเทศที่มีมาตรการการควบคุมโรคที่หละหลวมและมีประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในอัตราสูง 
ในขณะที่พวกเราชาวไทยไม่ควรตื่นตระหนกและเกรงกลัวโอมิครอนจนเกินไป สิ่งที่ควรทำคงไม่ใช่การปล่อยเนื้อปล่อยตัวและออกไปรับเชื้อโอมิครอนอย่างเต็มที่ แต่ต้องร่วมมือร่วมใจกันไปฉีดวัคซีนให้มากและเร็วที่สุด รวมทั้งเคร่งครัดในมาตรการการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาลต่อไป ซึ่งจะช่วยให้ประเทศของเราสามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้โดยไม่เกิดการสูญเสียมากเกินไป เชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอโควิดจะถูกประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นเราจะสามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระมากขึ้นกว่าปัจจุบัน

ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ
16 มกราคม 2565