"โอไมครอน" ระบาดเกือบ 100% ศูนย์จีโนมฯ เปิดผลตรวจสายพันธุ์เจอเดลตาแค่ 2.8%
"โอไมครอน" กลายเป็นสายพันธุ์หลักระบาดในไทยเกือบ 100 % ศูนย์จีโนมฯ เผยข้อมูลตรวจหาสายพันธุ์ขณะนี้เจอเดลตาเพียง 2.8 % ชี้การระบาดสองสายพันธุ์ในประเทศไทยจบลงแล้ว
อัปเดตสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ "โอไมครอน" ที่กำลังระบาดทั่วโลกในขณะนี้ และพบว่าหลายประเทศมีอัตราการการติดเชื้อ "โอไมครอน" ของประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ Center for Medical Genomics โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงแนวโน้มและสถานการณ์การระบาดของ "โอไมครอน" และ เดลตา ในประเทศไทย ดังนี้
เริ่มได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์กันแล้ว
ปรับปรุง 17/1/2565
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ตรวจสายพันธุ์ไวรัสโคโรนา 2019 จาก รพ. รัฐ และ เอกชน ใน กรุงเทพ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 3-16 มค 2565 พบ
- โอมิครอน 97.1% (69/71)
- เดลตา 2.8% (2/71)
ตัวอย่างสุ่มตรวจจากเรือนจำ
- เดลตา 100% (30/30) อันหมายถึงในกรุงเทพ หากไม่นับในเรือนจำ
"โอมิครอน" น่าจะเข้ามาแทนที่ "เดลตา" เกือบหมดแล้ว "Twindemic" หรือการติดเชื้อสองสายพันธุ์ ระหว่าง "โอมิครอน" และ "เดลตา" ไปพร้อมกันในระยะเวลาสั้นๆ ได้จบลงแล้ว ไม่นาน "โอมิครอน" คงจะกระจายไปทั่วประเทศ
ไม่ช้าคงเป็นตามที่ ดร. แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อและภูมิแพ้แห่งชาติของสหรัฐ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคนสำคัญในคณะทำงานเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19ของรัฐบาลสหรัฐ ได้เตือนว่า ในที่สุดแทบทุกคนจะติดเชื้อไวรัส โอมิครอน จากนั้นทั้งภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและจากการติดเชื้อตามธรรมชาติจะพุ่งขึ้นสูง ลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 และลดอัตราการเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็ว เห็นปรากฏการนี้ได้อย่างชัดเจนจากข้อมูลผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตทั่วโลกจาก "โอมิครอน"
ศูนย์จีโนมฯ ระบุถึงสถานการณ์การระบาดของ "โอไมครอน" ในต่างประเทศเพิ่มเติม ว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแอฟริกาใต้ลดลงจนเข้าสู่สภาวะปรกติ ในขณะที่ผู้เสียชีวิตไม่มาก มีประชากรติดเชื้อไวรัสจากธรรมชาติเป็นจำนวนมาก
ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอังกฤษเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้เสียชีวิตไม่มาก อังกฤษใช้วัคซีนไวรัสเป็นพาหะ และเข็มกระตุ้นเป็นวัคซีนสารพันธุกรรม (mRNA)
ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าใกล้ถึงจุดสูงสุดใน 1-2 อาทิตย์ข้างหน้าในขณะที่ผู้เสียชีวิตไม่มาก อเมริกาใช้วัคซีน mRNA เป็นวัคซีนนำสองเข็มแรก และใช้เป็นเข็มกระตุ้นด้วย
ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย รวมทั้งอิหร่าน ที่มีการติดเชื้อจากธรรมชาติในอัตราสูงนำมาก่อน ก่อนจะมารับวัคซีนเชื้อตาย และสลับมารับวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ และ/หรือ วัคซีน mRNA เป็นเข็มกระตุ้น พบว่าได้ผลดีมาก มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จากโอมิครอนและผู้เสียชีวิตต่ำ
ประเทศไทย มีการติดเชื้อจากธรรมชาติไม่มาก ได้รับวัคซีนเชื้อตาย และสลับมารับวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ และ วัคซีน mRNA เป็นเข็มกระตุ้น ได้ผลดีเช่นกัน แม้จะเห็นผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นจากโอมิครอนแต่ผู้เสียชีวิตลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ไวรัสโคโรนา 2019 คงจะจบเกม (End game) กลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) เหมือนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมาตามฤดูกาล โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณร้อยละ 0.1