เปิด 5 อาการ ผู้ป่วย HIV ติด "โควิด" สาเหตุทำให้ตายสูงถึง 30 % ต่างจากคนทั่วไป
ข้อมูลใหม่ผู้ป่วย HIV "ติดโควิด" พบแสดงอาการ 5 แบบ ที่ต่างจากกลุ่มคนทั่วไป เปิดสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตสูงกว่าปกติมากถึง 30% พร้อมแนะวิธีดูแลผู้ติดเชื้อให้ถูกวิธี
อัปเดตสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ และส่งผลคนทั่วโลกติดเชื้อจำนวนมาก โดยรายงานระบุว่า ปัจจุบันมีประชากร "ติดโควิด" ไปแล้วกว่า 328,775,317 ราย และมีอาการรุนแรง 96,037 ราย ซึ่งตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ขณะนี้คนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย สามารถติดโควิด-19 ได้ แต่กลุ่มที่ติดโควิด-19 แล้วดูเหมือนว่าจะมีความเสี่ยงและความกังวลมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ คือประชาชนในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรคเสี่ยง กลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อ "HIV" เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว จึงทำให้หลายคนมีความกังวลว่าจะส่งผลให้มีอากรป่วยรุนแรง หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้หากติดเชื้อโควิด-19 "คมชัดลึกออนไลน์" ได้รวบรวมข้อมูล อาการที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ติดเชื้อ HIV "ติดโควิด" รวมถึงสาเหตุที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีแนวโน้มจะเกิดการเสียชีวิตได้มากกว่าคนทั่วไป และแนวทางการปฏิบัติตัวหากผู้ติดเชื้อ HIV "ติดโควิด"
ความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อ HIV ที่ติดโควิด
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุ ว่า ผู้ติดเชื้อ "HIV" จะมีความเสี่ยงของอาการโควิด19 ที่มีความรุนแรง จนถึงขั้นเป็นอันตรายมากกว่าคนทั่วไปถึง 30% เมื่อเทียบกับคนปกติทั่วไป จากการศึกษาพบว่า HIV เป็นปัจจัยร่วมสำคัญของการติดเชื้อโควิด-19 ที่ทำให้เสียชีวิต โดย 1 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อ HIV มักจะเสียชีวิต ขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล
อย่างไรก็ตามไวรัส HIV ไม่ได้เป็นตัวกระตุ้นให้โควิด-19 มีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่ไวรัส HIV มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคแทรกซ้อนได้หลายโรค ดังนั้นผู้ป่วย HIV ทุกรายจะมีปัญหาด้านระบบภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว จึงส่งผลให้เมื่อติดโควิด-19 อาการจึงมีความรุนแรง และถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการ การดูแล และการรักษาผู้ป่วย HIV เมื่อติดโควิด-19 โดย คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) ระบุไว้ดังนี้
สำหรับอาการโควิด-19 ในผู้ป่วย HIV จะมีภาวะ ไข้ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก อาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และความรู้สึกสับสนมึนงง ผู้ป่วยทุกคนมีระดับออกซิเจนในเลือกต่ำกว่า 94 % และส่วนใหญ่มักจะพบอาการเดียวกันกับคนทั่วไป คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ฯลฯ ส่วนสาเหตุที่ส่งผลให้ผู้ป่วย HIV เสียชีวิตเกิดความร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันออกมาสู้กับโควิด-19 ได้มากพอ
ด้านข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กองโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ กระทรวงสาธารณะสุข ระบุว่า ผู้ป่วย HIV กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดหาก "ติดโควิด" จะเป็นกลุ่มที่มี โรคร่วม ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน
แนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อ HIV และติดโควิด-19 สามารถทำได้ดังนี้
- เข้ารับวัคซีนโควิด-19 เป็นกลุ่มแรก เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย
- ทานยารักษา HIV ตามสูตรเดิมเพราะมีประสิทธิภาพดี และไม่มีผลข้างเคียง
- ในกรณีที่เพิ่งทราบว่าติดเชื้อเอชไอวี ขณะที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา และยังไม่เคยได้รับด้วยยาต้าน HIV มาก่อน ให้เริ่มยาสูตรแรกที่มี DRV/r หรือ LPV/r ร่วมกับยากลุ่ม nucleoside reverse transcriptase อีก 2 ชนิด แล้วพิจารณาปรับเปลี่ยนสูตรยาภายหลังเมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น หรือ คงที่
ที่มาข้อมูล: https://www.sdgmove.com/2021/07/22/hiv-connect-covid-19/
http://www.tncathai.org/images/NCAB/ncab-article81.pdf
https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/997720200403092531.pdf