โควิด-19

จริงแท้หรือมั่วนิ่ม 7 ความเชื่อเกี่ยวกับ "โควิด-19" หาคำตอบที่นี่

จริงแท้หรือมั่วนิ่ม 7 ความเชื่อเกี่ยวกับ "โควิด-19" หาคำตอบที่นี่

22 ม.ค. 2565

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตอบคำถาม ความเชื่อเกี่ยวกับ "โควิด-19" ที่หลายคนยังเข้าใจผิด หาคำตอบได้ที่นี่

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตอบคำถาม ความเชื่อเกี่ยวกับ "โควิด-19" ที่หลายคนยังเข้าใจผิด หาคำตอบได้ที่นี่

 

ทุกวันนี้ภาวะโรค "โควิด-19" ระบาดก็อยู่กับประเทศไทยมานานจนเสมือนเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว แต่หลายคนก็ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยว "โควิด-19" ทั้งหมด วันนี้คามชัดลึกออนไลน์ จะพามาหาคำตอบเกี่ยวกับความเชื่อของโควิด-19 กัน

1. ฉีดแอลกอฮอล์ใส่หน้ากากอนามัยแล้วนำมาใช้ต่อได้

ไม่จริง : การฉีดแอลกอฮอล์ใส่หน้ากากอนามัยเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะด้านหน้าของหน้ากากอนามัยมีการเคลือบสารกันซึมไว้ ดังนั้น การฉีดแอลกอฮอล์ใส่หน้ากากอนามัย จะทำให้คุณสมบัติของสารกันซึมนั้นเสื่อมประสิทธิภาพ เกิดการรั่วซึมและไม่สามารถป้องกันฝุ่นหรือเชื้อโรคได้

 

2. ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ลดความเสี่ยงในการเป็น "โควิด-19"

ไม่จริง : วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้เฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่เท่านั้น ไม่สามารถป้องกัน"โควิด-19" ได้ แต่การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะลดความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ซึ่งอาจจะพบการติดเชื้อร่วมกับโควิดได้ 

 

3. ไม่มีไข้ก็สามารถเป็น "โควิด-19" ได้

จริง : ผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" บางรายอาจไม่มีไข้ได้ บางรายไม่มีอาการใด ๆ เลย แต่หากเข้าสู่ระยะที่เป็นมากขึ้นหรือต้องนอนโรงพยาบาลมักจะมีไข้ชัดเจน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับระยะของโรค

4. กินวิตามิน หรือสมุนไพร จะช่วยป้องกัน "โควิด-19"

ไม่จริง : ยังไม่มีวิตามินหรือสมุนไพรที่ช่วยป้องกัน "โควิด-19" ต้องรอการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

 

5. คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากาก N95

จริง : หน้ากากอนามัย N95 ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้คนทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือใส่เป็นเวลานาน ๆ เพราะเป็นหน้ากากอนามัยที่มีคุณสมบัติป้องกันเชื้อโรคได้สูง เมื่อใส่นาน ๆ จะเกิดความอึดอัด จึงเหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็น "โควิด-19" ส่วนคนทั่วไปโดยเฉพาะคนที่ไม่ป่วยสามารถใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้าได้ เพราะประหยัดและนำกลับมาใช้ซ้ำได้

 

6. หากเคยเป็น "โควิด-19"แล้วร่างกายจะมีภูมิต้านทาน

จริง : "โควิด-19" คือการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งตามหลักการทั่วไปของการติดเชื้อไวรัสนั้น หากหายดีแล้ว ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทานป้องกันการกลับเป็นโรคซ้ำ แต่ต้องติดตามการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เพราะมีรายงานผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อซ้ำแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นจากระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลงและหรือการติดเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์

 

7. ล้างมือด้วยสบู่สามารถฆ่าเชื้อไวรัส "โควิด-19" ได้ดีกว่าเจลแอลกอฮอล์

ไม่จริง : การล้างมือด้วยสบู่และเจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไปนั้น มีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อได้ไม่ต่างกัน แต่การล้างมือด้วยสบู่มีข้อดีกว่าเพราะสามารถล้างได้สะอาดและหมดจดกว่าเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะถ้ามือเปื้อน เช่น เปื้อนสิ่งคัดหลั่ง ส่วนเจลแอลกอฮอล์จะเหมาะสำหรับการพกพาใช้ระหว่างวันเพราะสะดวกกว่า

 

ที่มา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี