อาการ "โอไมครอน" เจอแล้ว 50 อาการ "Long Covid" ไม่ชัดอยู่นานแค่ไหน
อาการ "โอไมครอน" ขาลงระยะท้าย "โควิด-19" เตือนอย่าลดการ์ด พบอาการ "Long Covid" 50 อาการ ทั่วโลกต้องร่วมมือกันถึงจะชนะ "โอไมครอน" เร่งฉีดเข็มกระตุ้น
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวในการแถลงข่าว สถานการณ์ของสายพันธุ์ "โอไมครอน" จากทั่วโลก 2 เดือน หลังการเริ่มแพร่ระบาด ว่า สำหรับวันนี้จะเป็นการรวบรวมข้อมูลต่าง 2 เดือนเต็ม หลังจาที่องค์การอนามัยโลก ออกมาประกาศเรื่องสายพันธุ์ "โอไมครอน" เมื่อวันที่ 24 พ.ย 2564 ที่ผ่านมา คงจำกันได้ว่าช่วงเวลานั้นทั่วโลกตื่นตระหนก เนื่องจากข้อมูลจากแอฟริกาใต้ มีจุดของการกลายพันธุ์สูงมาก ถึง 32 จุด ที่อาจเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว ซึ่งหากมีความรุนแรงมากขึ้นด้วยก็หมายถึงว่า วิกฤต "โควิด-19" จะถูกเร่งขึ้นอย่างมากมาย แต่ขณะเดียวกัน ถ้ารุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดิมเช่นเดลตาจริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือสายพันธุ์นี้จะมาทดแทนสายพันธุ์เดลตา และถ้ารุนแรงน้อยลงจริงนั่นอาจส่งสัญญาณอะไรบ้างอย่างให้ชาวโลก
วันนี้ขอนำข้อมูลตลอด 2 เดือนเต็มที่เฝ้าติดตามกันมา โดยจะมีการสรุปงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอด 2 เดือน โดยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ "โอไมครอน" โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา พบว่า "โอไมครอน" กำลังไปรุนแรงมากในทวีปยุโรป กว่า 300 ล้านคนที่เป็น "โควิด-19" พบในยุโรปมากขึ้น รองมาคือ ทวีปอเมริกา ซึ่ง "โอไมครอน" กลายเป็นสายพันธุ์หลักใน 2 ทวีปนี้แล้ว ขณะที่เดลตาน้อยลง
สำหรับประเทศไทยถูกจัดอยู่ในทวีปตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพบ "โอไมครอน" ขึ้นมาบ้าง ส่วนทวีปเวสเทิร์นแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ก็พบว่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่พบว่าทวีปแอฟริกาเริ่มสงบลง
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า แต่ละทวีปทั่วโลกส่วนใหญ่แล้วอยู่ในขาขึ้นของ "โควิด-19" เกิดจากผลของ "โอไมครอน" เป็นหลัก ซึ่งที่ทั่วโลกไม่คิดมาก่อนหลังจากผ่านคลื่น 1, 2, 3 แล้วจะพบคลื่นที่เพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งคิดภาพว่า หากมีความรุนแรง จะเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ แต่เชื่อว่าตอนนี้เราโชคดี ส่วนแอฟริกาถือว่าผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว กำลังอยู่ในช่วงขาลง
ทั้งนี้อัตราติดเชื้อ "โควิด-19" ต่อวันของโลกหลังพบ "โอไมครอน" จากเดิมเดลตาพบติดเชื้อวันละหลักแสน เกือบๆ ล้านราย ก็พอเจอ "โอไมครอน" ก็พบสูงถึงวันละ 2-3 ล้านรายต่อวัน ซึ่งไม่เคยเจอในการระบาดของสายพันธุ์อื่นๆ
ส่วนอัตราเสียชีวิตใกล้เคียงเดิม เฉลี่ยวันละ 4-8 พันราย แต่หากเทียบสัดส่วนกับจำนวนติดเชื้อที่สูงขึ้น ก็จะพบว่า การเสียชีวิตไม่ได้พุ่งตามจำนวนติดเชื้อ ส่วนการฉีดวัคซีน "โควิด-19" ทั่วโลก สะสมกว่า 9,911 ล้านโดส ครอบคลุมเกือบ 8 พันคนของประชากรโลก เฉลี่ยฉีดวันละ 36 ล้านโดส ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนมากพอสมควร ประชากรรวม 334 ล้านคน ฉีดวัคซีนเข็มแรก 3 ใน 4 ของประชากร ประมาณ 2 ใน 3 ได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว และ 1 ใน 4 ได้รับการฉีดกระตุ้น ขณะที่ กราฟติดเชื้อหลังจากพบ "โอไมครอน" ตัวเลขพุ่งขึ้นชัดเจน มากกว่าระลอกอื่นๆ
ส่วนประเทศไทยในการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ถือว่าบริหารจัดการได้ดี เคยมีผู้ติดเชื้อขึ้นไป 2 หมื่นกว่ารายต่อวัน แล้วค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ จากนั้น เชื้อ "โอไมครอน" ก็เข้ามา แต่ตัวเลขการติดเชื้อค่อนข้างเป็นเส้นตรง ติดเชื้อวันละ 7-8 พันราย อัตราเสียชีวิตค่อนข้างดี หลัก 20 รายต่อวัน ส่วนการฉีดวัคซีนก็ฉีดไปแล้วกว่า 110 ล้านโดส ประชากร 70 ล้านคน โดย 3 ใน 4 ฉีด 1 โดส และเกือบร้อยละ 16 ที่ฉีดเข็มที่ 3 แล้ว ดังนั้น ถือว่าเราไม่ด้อยในการจัดการ "โควิด-19"
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวอีกว่า ข้อมูลจริงที่ได้จากการระบาดของ "โอไมครอน" ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา คือ ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงไปถึงปอด ทำให้อาการไม่รุนแรง เสียชีวิตน้อยกว่าเดลตา แต่การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ไอจามบ่อยจึงแพร่เร็วกว่าเดลตา โดยที่ปริมาณไวรัสไม่จำเป็นต้องเยอะ อาการน้อยกว่า ดังนั้น ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยได้ตั้งยุทธศาสตร์ว่า หากติดเชื้อไม่มีอาการให้เก็บตัวอยู่ที่บ้าน ผ่านไป 2 สัปดาห์ก็หาย และเกิดภูมิคุ้มกัน การเข้าโรงพยาบาลต้องอาการรุนแรง นอกจากนี้ ยังพบ "โอไมครอน" หลบภูมิคุ้มกันได้ดี ทำให้ติดเชื้อซ้ำได้
ย้ำว่าไม่สามารถเอาอาการที่แสดงออกมาจำแนกว่าเป็นสายพันธุ์ไหนได้ แต่อาการที่พบว่าแตกต่างจาก เดลตา คือ "โอไมครอน" จะมีน้ำมูกไหล ปวดศีรษะ ปวดตัว ไอ จาม แต่ไม่ค่อยมีไข้ หรือไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ในเวลานี้ใกล้ที่ "โอไมครอน" จะชนะศึกกับเดลตาแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนยังเป็น ร้อยละ 85 กับ ร้อยละ 15 แต่ปลายเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้าจะเป็น "โอไมครอน" ทั้งหมด
การศึกษาที่ลอนดอนพบว่า ภูมิคุ้มกันที่จะลดการติดเชื้อ ลดความรุนแรงได้ต่อเมื่อฉีด 3 เข็ม ส่วนการฉีด 2 เข็ม นับว่าเป็นการฉีดวัคซีนพื้นฐาน ส่วนระยะห่างจากเข็มที่ 2 อยู่ที่ 3 เดือน ตัวเลขนี้มาจากการวิจัยที่พบระดับภูมิลดลง แต่ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บอกว่าเราต้องฉีดกันทุก 3 - 4 เดือน ดังนั้น อย่าเพิ่งคิดแบบนั้น ต้องติดตามสถานการณ์ไวรัสต่อไป เชื่อว่า 3 - 4 เดือน จะมีวัคซีนรุ่นที่ 2 ออกมา ต้องดูว่าจะมีผลบวกอะไรที่เพิ่มจากรุ่นแรก
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนฉีดเข็มที่ 3 แต่ จากเข็มที่ 3 ไปเข็มที่ 4 เข็มที่ 5 นั้น ยังต้องติดตาม แต่ยกเว้นบุคลากรการแพทย์ที่มีความเสี่ยงมาก ส่วนอาการลองโควิด "Long Covid" ซึ่งพบกว่า 50 อาการ แต่ยังนิยามไม่ชัดว่าจะต้องอยู่นานเท่าไหร่ อย่างมีงานวิจัยว่าฉีดวัคซีน วันครบจะลดอาการเหล่านี้ ร้อยละ 50 และไม่แตกต่างในแต่ละสายพันธุ์ "โควิด-19" สอนเราว่าทั่วโลกต้องร่วมมือกันจึงจะชนะ "โอไมครอน" ได้ ประชากรโลกต้องได้ฉีดวัคซีนกันครบ ไม่ใช่ฉีดเฉพาะประเทศที่มีเศรษสถานะร่ำรวย แล้วการหวังภูมิคุ้มกันโดยการติดเชื้อ ซึ่งมีคนคิดแบบนี้จริงๆ มองว่าเมื่ออาการไม่รุนแรง ติดเชื้อก็ไม่เป็นอะไร เลยไม่ฉีวัคซีน อย่าคิด และอย่าทำแบบนั้น ถ้าได้รับเชื้อแล้วไม่แน่ว่าจะรอดหรือไม่รอด และอาจจะเอาเชื้อไปสู่ผู้ใหญ่ที่บ้าน หากเกิดอะไรขึ้นท่านจะเสียดาย นี่ไม่ใช่ช่วงการจะทำอย่างนั้น
การที่ "โอไมครอน" กระจายเร็วแทนที่สายพันธุ์อื่น แต่ตัวมันรุนแรงน้อยกว่า ดังนั้น ชี้ว่าเรามีโอกาสสูงที่เข้าสู่ช่วงท้ายการระบาดของ "โอไมครอน" ติดเชื้อมากแต่ไม่เสียชีวิตก็เกิดภูมิคุ้มกัน สุดท้ายจะไปสู่ระยะท้ายของ "โอไมครอน" แต่อย่าหวังภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ ดีที่สุดคือ ภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ทั้งนี้ แม้รู้จักมา 2 เดือน แต่อาจจะยังมีอะไรที่ยังไม่รู้ เร็วเกินไปที่จะเอาการ์ดลง ต่างประเทศคิดว่า "โควิด-19" ยังอยู่ไปอีกถึงกลางปีหรือปลายปี ในส่วนของประเทศไทย เราคงไม่กลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนช่วงก่อนการระบาด แต่ให้ใช้ชีวิตปกติรูปแบบใหม่ คือ ล้างมือบ่อยๆ มีพฤติกรรมสุขภาพดีขึ้น ซึ่งวิถีใหม่นี้จะทำให้เราสามารถรับมือกับโรคระบาดใหม่ได้