รู้มั้ย "ฉีดวัคซีน" กับป่วยจากติดโควิดในเด็ก แบบไหนเสี่ยงตายมากกว่า
เช็คความเสี่ยงเด็ก "ฉีดวัคซีน" หรือ เด็กติดโควิดแบบไหนอาการรุนแรง เสี่ยงเสียชีวิตมากกว่ากัน พร้อมแนะแนวทางฉีดวัคซีนโควิดเด็กให้ปลอดภัย
รับแนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19ในเด็กมีความสำคัญ และมีความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด สำหรับประเทศไทยได้มีการอนุมัติฉีด "วัคซีนโควิด" เพื่อฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยวัคซีนที่ใช้นั้นเป็นวัคซีนไฟเซอร์ ฝาส้ม หรือวัคซีนโคเมอร์เนตี ซึ่งสูตรสำหรับเด็ก ขนาด 10 ไมโครกรัม ปริมาณ 0.2 มิลลิลิตร (มล.) เข้าบริเวณกล้าม 2 ครั้ง ห่างกัน 3-12 สัปดาห์ โดยระยะห่าง 8-12 สัปดาห์ จะดีกว่า 3-4 สัปดาห์ เพราะจะได้ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงกว่า และผลข้างเคียงน้อยกว่า
โดยจะเริ่มฉีด "วัคซีนโควิด" ให้เด็กนักเรียนได้สิ้นเดือนมกราคม 2565 นี้ อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนโควิดอาจสร้างความกังวลใจให้แก่ผู้ปกครอง โดยเฉพาะผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น แต่หลายคนก็อาจจะกังวลเช่นกันหากบุตรหลานยังไม่ได้รับวัคซีนและติดโควิด-19 "คมชัดลึกออนไลน์" จะพาไปเช็คอาการจากการติดโควิด และอาการจากการฉีดวัคซีน แบบไหนมีความเสี่ยงมากกว่ากัน
อาการของเด็กที่ติดโควิด-19 มีดังนี้
- โควิด-19 สามารถมีอาการได้หลากหลายตั้งแต่ ไม่มีอาการเลย จนถึงปอดอักเสบรุนแรง หรือเสียชีวิต
- ผู้ป่วยเด็กติดเชื้อส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 มีอาการไม่รุนแรง เช่น ไข้ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ
- ผู้ป่วยเด็กเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่มีอาการรุนแรงหรือวิกฤติ เช่น ปอดอักเสบรุนแรง ระบบหายใจหรือระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว รวมถึงภาวะอักเสบหลายระบบในเด็ก
- ผู้ป่วยเด็กสามารถพบติดเชื้อแต่ไม่มีอาการได้ประมาณร้อยละ 4
- ภาวะแทรกซ้อนพบได้น้อย มักพบในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคปอดเรื้อรัง หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- อัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 2
อาการหลังจากได้รับ "วัคซีนโควิด"
- เจ็บในตำแหน่งที่ฉีด 79-86%
- อ่อนเพลีย 60-66%
- ปวดศีรษะ 55-66%
- เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบในอัตรา 56-69 รายต่อ 1,000,000 โดสของวัคซีนที่ฉีด
- เด็กผู้หญิงพบในอัตราที่ต่ำกว่ามากอยู่ที่ประมาณ 4-5 รายต่อการฉีดวัคซีน 1,000,000 โดส
อาการที่ควรเฝ้าระวังหลังฉีด "วัคซีนโควิด"
- หลังได้รับวัคซีนแล้ว ควรนั่งพักและสังเกตอาการของตนเองอย่างน้อย 30 นาที เหมือนกันกับผู้ใหญ่ โดยมีอาการที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษก็คือ
- อาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก
- หอบ เหนื่อยง่าย
- ใจสั่น
- หมดสติ เป็นลม รู้สึกอ่อนเพลียผิดปกติ
คำแนะนำก่อนฉีด "วัคซีนโควิด"
- ไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่น ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 14 วัน ยกเว้นการฉีดวัคซีนที่มีความจำเป็นเช่น วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเมื่อเด็กถูกสัตว์กัด
- เด็กและวัยรุ่นหญิงที่มีประจำเดือน อยู่ในระยะหลังคลอด หรือให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้
- เด็กและวัยรุ่นที่หายจากโรคโควิด-19 หรือโรคแทรกซ้อนจากโรคโควิด-19 และโรคคาวาซากิ (MIS-A หรือ MIS-C) ควรเว้นระยะการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ห่างจากวันที่ตรวจพบเชื้อ 1-3 เดือน โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการรักษาด้วยพลาสมา ควรได้รับวัคซีนทันทีเมื่อครบกำหนด 90 วัน
อย่างไรก็ตามแนวทางในข้างต้นเป็นทางเลือกเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ปกครองในการพิจารณาให้บุตรหลานฉีดวัคซีน หรือจะให้เด็กเสี่ยงติดโควิดและมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ
ที่มา : โรงพยาบาลศิครินทร์
มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาดไทย