"โอไมครอน" BA.2 หลบยังไง ATK และ RT-PCR ก็ตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการแบบเดิมเจอ
"โอไมครอน" BA.2 ดร.อนันต์ เผยยังไม่มีไวรัสมาทดสอบโดยตรง แต่วิธีการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR และ ATK ที่ใช้โดยทั่วไปยังสามารถตรวจเจอได้หากติดเชื้อ
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้โพสต์ เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุข้อความว่า ถึงการระบาดของ "โอไมครอน" สายพันธุ์ BA.2 โดยระบุว่า
รายงานเรื่องตรวจพบ "โอไมครอน" สายพันธุ์ BA.2 ในประเทศไทย และ เนื่องจาก BA.2 ตรวจแยกสายพันธุ์ยากขึ้น เนื่องจากตำแหน่งบางตำแหน่งไม่เหมือนที่พบในโอมิครอนปกติ แต่การตรวจหาเชื้อโดย RT-PCR ยังทำได้เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าอาจต้องใช้เวลาเพิ่มเติมตรวจสอบว่าเป็น BA.2 หรือ สายพันธุ์อื่นๆเช่น เดลต้า ประเด็นข้อสงสัยเดียวกันทำให้มีคำถามตามมาว่าชุดตรวจ ATK ยังสามารถใช้ตรวจ BA.2 ได้เหมือนเดิมหรือไม่ ถึงแม้ว่าเรายังไม่มีไวรัส BA.2 ออกมาทดสอบได้โดยตรง
ดร.อนันต์ ระบุ เพิ่มเติมว่า การเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของโปรตีน Nucleocapsid ซึ่งเป็นโปรตีนที่ ATK ตรวจจับ ระหว่าง BA.1 และ BA.2 พบว่า มีความใกล้เคียงกันเกือบ 100% มีกรดอะมิโนที่แตกต่างกัน 2 ตำแหน่งใน 416 ตำแหน่ง
ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่า ATK ที่สามารถตรวจวัด BA.1 หรือ โอมิครอนที่ระบาดอยู่ก่อนแล้วได้ จะไม่มีประเด็นที่จะตรวจไม่พบ BA.2 ได้ครับ ยังใช้งานได้ตามปกติ