เคาะเกณฑ์ใหม่ ประกาศ "โควิด" เป็น "โรคประจำถิ่น" ไม่รอ WHO ป่วยตายต่ำกว่า 0.1%
สธ.เคาะเกณฑ์ใหม่ ประกาศ "โควิด" เป็น "โรคประจำถิ่น" ไม่รอ WHO เงื่อนไข อัตราการเสียชีวิต 1 : 1,000 ประชากรที่ป่วย
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานว่า คณะกรรมการ มีการพิจารณาและเห็นชอบในหลักการ 2 เรื่องสำคัญ คือ แนวทางการพิจารณาโรค "โควิด" เป็น "โรคประจำถิ่น" เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแนวความคิดว่าขณะนี้ โรค "โควิด" ระบาดมาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว และลักษณะการระบาดมีทิศทางดีขึ้น อยู่ภายใต้การควบคุม ไม่มีลักษณะรุนแรง และเป็นตามหลักวิชาการ และประเทศไทยไม่ต้องการปล่อยระยะเวลาไป แล้วให้กลายเป็นโรคประจำถิ่นด้วยตัวเอง จึงต้องบริหารจัดการให้กลายเป็นโรคประจำถิ่นต่อไป ซึ่งต้องมีการกำหนดเกณฑ์ โดยหลักการกว้าง ๆ ของโรคประจำถิ่นคือ ไม่ค่อยรุนแรงแต่ระบาดได้ มีอัตราเสียชีวิตที่ยอมรับได้ มีการติดเชื้อเป็นระยะ ๆ ได้ โรคไม่รุนแรงเกิน คนต้องมีภูมิต้านทานพอสมควร ระบบดูแลรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น สธ.เตรียมบริหารจัดการ เพื่อให้โควิดประเทศไทยเป็นโรคประจำถิ่นได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องรอองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศก่อน เพราะถ้ารอก็ไม่ทัน ซึ่งหลักการกว้าง ๆ ของโรคประจำถิ่นดังกล่าว ต้องแปลงเป็นตัวเลขขึ้นมา 3 หลัก ได้แก่
- อัตราป่วยเสียชีวิตไม่เกิน 1 ต่อ 1,000 คน ต้องบริหารจัดการไม่ให้เกินอัตรา ถ้าเกินก็แสดงว่ายังรุนแรง
- มีการสร้างเสริมให้คนมีภูมิต้านทานมากขึ้น ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งสำหรับ "โอมิครอน" หรือ "โอไมครอน" ถ้าได้รับวัคซีน 2 เข็ม 80% ก็ถือว่ามีภูมิต้านทานพอสมควรแล้ว
- ประสิทธิภาพการดูแลรักษาพยาบาล ซึ่งจะดูความสอดคล้องการระบาดที่จะต้องเป็นการระบาดทั่วไป ที่เป็นประจำถิ่นด้วย
ซึ่งเมื่อมีกรอบหลักเกณฑ์แล้ว สธ.ก็จะไปจัดทำแนวทาง และแผนงาน เพื่อบริหารจัดการให้เป็นไปตามเกณฑ์ ก่อนจะประกาศโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อทั่วไป ที่จะเข้าสู่โรคประจำถิ่น
นอกจากนี้ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการจะถอดหน้ากากอนามัยได้เลยหรือไม่ หรือมาตรการต่าง ๆ ถ้าเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ก็จะมีการกำหนดอีกครั้ง ส่วนระยะนี้ ยังต้องฉีดวัคซีนต่อไปอีกระยะใหญ่ ให้คนมีภูมิต้านทานต่อเนื่อง โดยขอความร่วมมือประชาชน ที่ฉีดวัคซีนสูตรซิโนแวค ตามด้วยแอสตราเซนเนกา ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็น แอสตราเซนเนกา และคนที่รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม/ซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ตามด้วยแอสตราเซนเนกาแล้ว ให้ไปรับเข็ม 4 เป็นแอสตราเซนเนกา ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของคณะกรรมการวิชาการ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานเชื้อ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" ในประเทศไทยครอบคลุม 90% ซึ่งเป็นไปตามข้อมูล คือความรุนแรงน้อย อัตราการเสียชีวิตต่ำ