"วัคซีนโควิด" รุ่นใหม่ตัวแรกของโลก พร้อมทดลองในมนุษย์รับมือ "โอไมครอน"
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ เผย "วัคซีนโควิด" เจนสอง รุ่นใหม่ตัวแรกของโลก พร้อมทดลองในมนุษย์รับมือ "โอไมครอน" แล้ว
อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โอไมครอน" ในประเทศไทยที่ขณะนี้มีสัดส่วนผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ระบุว่าเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun โดยระบุว่า
ความรู้เรื่องCOVID-19 (ตอนที่1103) 26มค2565
"วัคซีนโควิด" เจนที่สอง ตัวแรกของโลกจะทดลองในมนุษย์แล้ว เพื่อรับมือกับไวรัส "โอไมครอน" นับจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนอยู่ในกลุ่มที่น่าเป็นกังวล (VOC) ลำดับที่ 5 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565
ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา มีการแพร่ระบาดรวดเร็วไปกว่า 160 ประเทศทั่วโลก และในหลายประเทศได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักแซงหน้าไวรัสเดลต้าเดิม นอกจากนั้นยังพบว่าวัคซีนเจนเนอเรชั่นที่ 1 ซึ่งผลิตขึ้นมาเพื่อรองรับไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น และใช้ได้ผลดีพอสมควรกับอัลฟ่าและเดลต้านั้น ได้ผลลดลงเมื่อพบกับโอมิครอน
โดยฉีดครบ 2 เข็ม มีประสิทธิผลในการป้องกันติดเชื้อเพียง 30% และฉีดเพิ่มเข็ม 3 ก็ได้ประสิทธิผลในการป้องกัน 60-70%
ทุกฝ่ายจึงมุ่งเป้าไปในการพัฒนาปรับปรุงวัคซีนเจนเนอเรชั่นที่ 1 ให้เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 2 เพื่อรับมือกับไวรัส "โอไมครอน" โดยตรง โดยในช่วงแรกนั้น บริษัท Pfizer ได้ออกมาแถลงว่า สามารถปรับเปลี่ยนได้ภายใน 100 วันหรือสามเดือน
เมื่อวานนี้ 25 มกราคม 2565 ทางบริษัทได้ออกมาแถลงว่าการ ปรับเปลี่ยน "วัคซีนโควิด" เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 2 เรียบร้อยแล้ว จะเริ่มทดลองในมนุษย์ได้แล้ว โดยจะทดลองในอาสาสมัคร 1420 คน อายุ 18-55 ปี
มีเป้าหมายเพื่อจะพิสูจน์เรื่องประสิทธิผลว่า ระดับภูมิคุ้มกันจะสูงเท่ากับเจน 1 ที่เคยรับมือสายพันธุ์เดิมได้หรือไม่ เมื่อวัคซีนเจน 2 พบกับไวรัส "โอไมครอน" และต้องการพิสูจน์ว่าจะอยู่ได้นานมากน้อยเพียงใด ตลอดจนมีความปลอดภัยหรือผลข้างเคียงในระดับใด
โดยจะแบ่งกลุ่มอาสาสมัครฉีด "วัคซีนโควิด" เจนที่สองเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1) ฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 2 เข็ม
จะฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนเจนเนอเรชั่นที่ 2 อีก 1-2 โดส
2) ฉีดไฟเซอร์แล้ว 3 เข็ม จะฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนใหม่ 1 โดส
3) กลุ่มที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนเลย จะฉีดด้วยวัคซีนใหม่ 3 โดส
อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการบางส่วนให้ความเห็นว่า การพัฒนาวัคซีนโดยเจาะจงไปที่ไวรัสสายพันธุ์เดียว(Singlevarent) น่าจะมีความเสี่ยงในอนาคต ควรจะพัฒนาเป็นแบบหลายสายพันธุ์ (Multivarent) ทำนองเดียวกับไข้หวัดใหญ่
เพราะไวรัสก่อโรคโควิดมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ถ้าพัฒนาวัคซีนมุ่งไปที่ "โอไมครอน" แล้วเกิดมีไวรัสอื่นขึ้นมาใหม่ ก็จะทำให้เดือดร้อนต้องพัฒนาวัคซีนเจนสามต่อไป