"โรคประจำถิ่น" เป็นได้มั้ย หมอดื้อตอบชัด ปชช.แบกภาระหนัก จ่ายเองทุกอย่าง
"หมอธีระวัฒน์" พูดชัดเร่งสั่งโควิดเป็น "โรคประจำถิ่น" ผลต่อเนื่องประชาชนต้องแบกรับทุกอย่าง ไม่มีชดเชยความเสียหาย-รักษาตามสิทธิ-จ่ายค่าตรวจเอง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือ "หมอธีระวัฒน์" ได้โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมจะประกาศให้โควิด-19 เป็น "โรคประจำถิ่น" เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ โดยระบุว่า
ทางการสั่งให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว
28/1/65
ผลต่อเนื่องจากนี้หมายความว่า
-โควิดไม่ได้อยู่ในโรคติดต่ออันตราย?
-ไม่ต้องมีการตรวจคัดกรองแยกกักตัว?
-ไม่ต้องมีการรายงาน?
-ถ้าเป็นการรักษา ต่อไปนี้ใช้สิทธิ์ของแต่ละคนเช่นใช้บัตรทอง?
-ไม่ต้องมีการชดเชยการประกอบธุรกิจค่าเสียหาย?
-การตรวจใดๆ เป็นการตรวจที่ต้องเสียเงินเอง?
-วัคซีนที่ใช้อยู่เป็นวัคซีนที่ออกมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งสิ้น
และปัจจุบันในประเทศไทยยังสามารถเรียกร้องค่าชดเชยผลกระทบจากวัคซีนได้ จาก สปสช แล้วต่อจากนี้ยังสามารถรับค่าชดเชยได้หรือไม่?
หมอธีระวัฒน์ ยังระบุด้วยว่า โดยที่จนกระทั่งถึงวันที่ 28 มกราคม 2565
มีผู้ยื่นคำร้อง 13,825 รายเข้าเกณฑ์ 10,544 ราย และมีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาในรายที่เหลือและที่มีอุทธรณ์
ทั้งนี้ ได้รับเงินชดเชยไปแล้ว 1,205,538,900 บาท
และมีเสียชีวิต 20.56%
ด้านกระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มพิจารณาหลักการ 2 เรื่องสำคัญที่จะพิจารณาประกาศให้ "โควิด" เป็น "โรคประจำถิ่น" เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแนวความคิดว่าขณะนี้ โรค "โควิด" ระบาดมาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว และลักษณะการระบาดมีทิศทางดีขึ้น อยู่ภายใต้การควบคุม ไม่มีลักษณะรุนแรง และเป็นตามหลักวิชาการ และประเทศไทยไม่ต้องการปล่อยระยะเวลาไป แล้วให้กลายเป็นโรคประจำถิ่นด้วยตัวเอง จึงต้องบริหารจัดการให้กลายเป็นโรคประจำถิ่นต่อไป ซึ่งต้องมีการกำหนดเกณฑ์ โดยหลักการกว้าง ๆ ของโรคประจำถิ่นคือ ไม่ค่อยรุนแรงแต่ระบาดได้ มีอัตราเสียชีวิตที่ยอมรับได้ มีการติดเชื้อเป็นระยะ ๆ ได้ โรคไม่รุนแรงเกิน คนต้องมีภูมิต้านทานพอสมควร ระบบดูแลรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพ