โควิด-19

จับตา NeoCoV "โควิด" ตัวใหม่พบในค้างคาวใกล้เคียงกับเมอร์สเสี่ยงรุนแรง

จับตา NeoCoV "โควิด" ตัวใหม่พบในค้างคาวใกล้เคียงกับเมอร์สเสี่ยงรุนแรง

29 ม.ค. 2565

นักไวรัสวิทยาแนะจับตา NeoCoV "โควิด" ตัวใหม่ในค้างคาว พบในทวีปแอฟริกา ใกล้เคียงกับไวรัสเมอร์ส ยังไม่สรุปรุนแรงทำคนเสียชีวิต แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เกี่ยกวับไวรัสโคโรนา หรือ "โควิด" ตัวใหม่ที่ที่ต้องเฝ้าระวัง โดยระบุว่า 


NeoCoV ไวรัสโคโรนาตัวใหม่ในค้างคาวที่ต้องเฝ้าระวัง***
งานวิจัยชิ้นหนึ่งถูกเผยแพร่มาจากทีมวิจัยจากประเทศจีนพูดถึงไวรัสโคโรนาในค้างคาวที่พบในประเทศในทวีปแอฟริกา โดยไวรัสชนิดนี้ชื่อว่า NeoCoV ซึ่งเป็นไวรัสที่มีความใกล้เคียงกับไวรัส MERS ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อโรคที่รุนแรงมากในมนุษย์ แต่ด้วยความสามารถในการแพร่กระจายที่ไม่ดี ทำให้การระบาดของ MERS-CoV จึงอยู่ในวงจำกัด

ปกติไวรัส MERS-CoV และ ไวรัสอื่นๆที่ใกล้เคียงกันจะใช้โปรตีนตัวรับจากเซลล์โฮสต์ที่ไม่เหมือนไวรัส SARS-CoV-2 ที่ใช้ ACE2 โดยไวรัสกลุ่ม MERS-CoV ใช้โปรตีนชื่อว่า Dpp4 และเป็นที่น่าสนใจว่า งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าไวรัสที่ชื่อว่า NeoCoV นี้ไม่ได้ใช้ Dpp4 เหมือนเพื่อนคนอื่นๆ แต่ดันไปใช้โปรตีน ACE2 เหมือนกับที่ SARS-CoV-2 ใช้ติด ข้อมูลจากทีมวิจัยระบุว่า ไวรัสชนิดนี้ยังติดได้ดีแต่เซลล์ของค้างคาว และ ติดเซลล์คนได้ไม่ดี ยกเว้นมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่ม 1 ตำแหน่งที่โปรตีนหนามสไปค์ของไวรัส (T510F) ที่จะทำให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ได้เหมือน SARS-CoV-2
ประเด็นที่เป็นข้อเท็จจริงคือ ไวรัสชนิดนี้สามารถกลายพันธุ์เพิ่มจนจับกับ ACE2 ของมนุษย์ได้ 

 ดร. อนันต์ ระบุต่อว่า ประเด็นที่ไม่ได้มีการแสดงในการศึกษานี้คือ ติดแล้วจะแพร่กระจายไวเหมือน SARS-CoV-2 หรือไม่ เพราะการจับกับ ACE2 ได้อย่างเดียวอาจไม่ใช่สิ่งรับประกันถึงความสามารถในการแพร่กระจายของไวรัส และ ประเด็นสำคัญอีกข้อคือ การที่ไวรัสชนิดนี้ใกล้เคียงกับ MERS-CoV อาจจะไม่ได้หมายถึงความสามารถในการก่อโรคได้รุนแรงเท่า MERS-CoV เสมอไป ดังนั้น การสรุปไปว่า จะเป็นไวรัสที่ระบาดในมนุษย์ที่รุนแรงและทำให้คนเสียชีวิตถึง 30% ยังเป็นการสรุปที่ไม่อยู่บนข้อเท็จจริงครับ แต่ถึงอย่างไรก็ดี ไวรัสตัวนี้จำเป็นต้องถูกเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด

 

 

ที่มา: https://www.biorxiv.org/.../2022.01.24.477490v1.full.pdf