โควิด-19

"วัคซีนโควิด" ไทย เดือน ก.พ. อัปเดตใหม่ ใช้สูตรไหน ทั้งเด็ก-ผู้ใหญ่ เช็คเลย

"วัคซีนโควิด" ไทย เดือน ก.พ. อัปเดตใหม่ ใช้สูตรไหน ทั้งเด็ก-ผู้ใหญ่ เช็คเลย

01 ก.พ. 2565

กระทรวงสาธารณสุข เปิดสูตรปรับปรุงใหม่ "วัคซีนโควิด" ไทย เดือน ก.พ. อัปเดต ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แถมเพิ่มทางเลือกให้อีก

เช็คอัปเดต "วัคซีนโควิด" ที่ใช้ในประเทศไทย ล่าสุด นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้คำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (เพิ่มเติม) ในเดือน ก.พ.2565 โดยอ้างอิงคำแนะนำจากการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2565 ผ่านมติที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้

 

  1. ให้สามารถฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ด้วยวัคซีน mRNA เป็นเข็มที่ 1 และวัคซีน Viral vector เป็นเข็มที่ 2 ได้ โดยมีระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
  2. ผู้ที่มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 สามารถรับวัคซีนตามหลักการเดียวกับผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน
  3. เพิ่มทางเลือกให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซนเนกา 2 เข็มมาแล้ว สามารถรับการฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกาเป็นเข็มกระตุ้นได้
  4. กรณีผู้ที่อายุ 12-17 ปี ที่ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็มมาแล้ว (คณะอนุกรรมการฯ ยังไม่ได้แนะนำให้ฉีดในขณะนี้) สามารถรับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้นได้ ภายหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 4 สัปดาห์ขึ้นไป
  5. เห็นชอบในหลักการให้ "วัคซีนซิโนแวค" ในผู้ที่มีอายุ 3-17 ปี (ขณะนี้รอการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะแจ้งแนวทางการให้วัคซีนซิโนแวคในเด็กเมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว

ส่วนแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 เดือน ก.พ.2565 ปรับปรุงเพิ่มเติมตามคำแนะนำการให้วัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข ผ่านมติที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้

 

1. วัคซีนแอสตราเซนเนกา จำนวน 7 ล้านโดส สำหรับ

  • ฉีดเป็นเข็มที่ 1 ในผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน ตามสูตรแอสตราเซนเนกา-แอสตร้าเซนเนกา [AZ+AZ] หรือแอสตราเซนเนกา-ไฟเซอร์ [AZ+PZ]
  • ฉีดเป็นเข็มที่ 2 ในผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ในผู้ที่ได้รับวัคชีนสูตรแอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า [AZ+AZ] หรือไฟเซอร์-แอสตราเซนเนกา [AZ+PZ] (ระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์)
  • ฉีดเป็นเข็มกระตุ้นในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ตามสูตรซิโนแวค-แอสตราเซนเนกา-แอสตราเซนเนกา [SV+AZ+AZ] หรือ ซิโนแวค-ซิโนแวค-แอสตราเซนเนกา-แอสตราเซนเนกา [SV+SV+AZ+AZ] หรือ แอสตราเซนเนก้า-แอสตราเซนเนกา-แอสตราเซนเนกา [AZ+AZ+AZ] (เป็นทางเลือกเพิ่มเติม)
  • ผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป และมีประวัติติดเชื้อโควิด-19 สามารถรับวัคซีนตามหลักการเดียวกับผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน (ข้อ 1.1)
     

2. วัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีม่วง สูตรสำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป) จำนวน 2.6 ล้านโดส สำหรับ

  • ฉีดเป็นเข็มที่ 2 ในผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ตามสูตรแอสตราเซนเนกา-ไฟเซอร์ [AZ+PZ]
  • ฉีดเป็นเข็มที่ 1 และ 2 ในผู้ที่อายุ 12-17 ปี ตามสูตรไฟเซอร์-ไฟเซอร์ [PZ+PZ]
  • ฉีดเป็นเข็มกระตุ้นในผู้ที่ได้รับวัคชีนครบตามเกณฑ์ ตามสูตรแอสตราเซนเนกา-แอสตราเซนเนกา-ไฟเซอร์ [AZ+AZ+PZ] หรือผู้ที่อายุ 12-17 ปี ที่ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็ม สามารถรับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้นได้ ตามสูตรซิโนฟาร์ม-ซิโนฟาร์ม-ไฟเซอร์ [SP+SP+PZ] (หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 4 สัปดาห์ขึ้นไป)
  • ผู้ที่อายุ 12-17 ปี และมีประวัติติดเชื้อโควิด-19 สามารถรับวัคซีนตามหลักการเดียวกับผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน (ข้อ 2.2)

 

3. วัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม สูตรสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี) จำนวน 1.2 ล้านโดส
4. สำรองสำหรับตอบโต้การระบาดด้วยวัคซีนแอสตราเซนเนกา จำนวน 1 ล้านโดส

 

อย่างไรก็ตาม นพ.โอภาสกล่าวเพิ่มเติมว่า การที่โรคโควิด-19 จะกลายเป็น "โรคประจำถิ่น" หรือโรคระบาดได้นั้น อัตราการติดเชื้อต้องคงที่ สายพันธุ์ของโรคไม่เพิ่มมากขึ้น และอาการของผู้ป่วยมีความรุนแรงไม่มาก ทั้งนี้ เชื่อว่าภายในปีนี้น่าจะผ่านพ้นการระบาดใหญ่ไปได้ จาก 3 เหตุผล นั่นก็คือ มีการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม เชื้อกลายพันธุ์เป็น "โอมิครอน" ซึ่งมีความรุนแรงน้อยลง จึงอาจสามารถควบคุมการแพร่ระบาด และคาดการณ์แนวโน้มของโรคได้

 

"Post Pandemic คงสามารถกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคติดต่อทั่วไป ซึ่งคงไม่ใช่ในเร็ว ๆ นี้ แต่คาดการณ์ว่าเป็นภายในปีนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เหมาะสมเราจะสามารถประกาศได้เร็วหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์ของประเทศไทย และความร่วมมือจากประชาชน" นพ.โอภาส กล่าว