"วัคซีนโควิด" สูตรต้าน "โอไมครอน" อาจไม่จำเป็น ผลวิจัยพบประสิทธิภาพเท่ากัน
ลืมสูตรใหม่ไปเลย "วัคซีนโควิด" เข็มกระตุ้นสูตรต้าน "โอไมครอน" อาจไม่จำเป็น หลังผลวิจัยในลิงพบ ฉีดโมเดอร์นาสูตรเดิม-สูตรต้านเฉพาะ มีประสิทธิภาพรับมือใกล้เคียงกัน
ยังคงต้องจับตาการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" ซึ่งมีข้อมูลว่าแพร่กระจายได้เร็ว และมีการกลายพันธุ์ที่ต่างจากสายพันธุ์อื่น ๆ จน "วัคซีนโควิด" ที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกัน หรือสร้างภูมิคุ้มกันต้าน "โอไมครอน" ได้น้อย ทำให้หลายบริษัท เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ประกาศพัฒนาสูตรวัคซีน เพื่อรับมือกับโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" โดยเฉพาะขึ้นมา
ล่าสุด มีรายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า นักวิจัยสถาบันโรคภูมิแพ้ และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ (NIAID) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ รายงานว่า วัคซีนโควิด-19 สูตรต้าน "โอไมครอน" โดยเฉพาะนั้น อาจไม่มีความจำเป็นแล้ว โดยทีมวิจัยได้ศึกษาประสิทธิภาพการป้องกันโควิด-19 "โอไมครอน" ในลิงที่ได้รับวัคซีนสูตรเดิมของโมเดอร์นา เทียบกับลิงที่ได้รับวัคซีนสูตรต้าน "โอไมครอน" ของโมเดอร์นา พบว่า ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการป้องกัน "โอไมครอน"
ด้าน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana อ้างอิงจากผลการวิจัยเช่นกันว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นที่ออกแบบจาก "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" โดยตรงอาจช่วยอะไรไม่ได้มาก ถ้าดูจากผลวิจัยล่าสุด ที่ทีมวิจัยจาก NIH ของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยออกมา การศึกษานี้ตั้งใจตอบคำถามง่าย ๆ คือ วัคซีนเข็มกระตุ้นชนิด mRNA ที่ออกแบบจากไวรัส "โอไมครอน" โดยตรง จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้แตกต่างมากน้อยอย่างไร เทียบกับวัคซีนตัวเดิมที่ออกแบบมาจากสายพันธุ์ Wuhan ดั้งเดิม วิธีวิจัยคือใช้ลิงที่ได้รับวัคซีน Moderna รูปแบบเดิม 2 เข็ม พอครบ 41 สัปดาห์หลังเข็ม 2 ก็แบ่งลิงออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกได้รับเข็มกระตุ้นเป็นวัคซีนตัวเดิม ขณะที่กลุ่มที่สองได้รับวัคซีน Moderna ที่ออกแบบจากโอมิครอน หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ ทีมวิจัยได้นำซีรั่มของลิงแต่ละตัว มาตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะปริมาณแอนติบอดีที่ยับยั้งไวรัสแต่ละสายพันธุ์ได้ (Neutralizing antibody)
ผลการทดลองออกมาพบว่า กลุ่มลิงที่ได้รับเข็มกระตุ้นจากวัคซีนโอมิครอนไม่ได้มีระดับแอนติบอดียับยั้งไวรัสแตกต่างจากลิงที่ได้รับวัคซีนเข็มเดิมกระตุ้นเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอนติบอดีที่ยับยั้งไวรัสโอมิครอน ซึ่งคาดหวังว่าน่าจะสูงกว่าในลิงกลุ่มที่กระตุ้นด้วยวัคซีนโอมิครอน เอาจริง ๆ ถ้าเปรียบเทียบเส้นทึบ กับเส้นประของสีที่ถูกระบายไว้ (โอมิครอน) กลุ่มที่กระตุ้นด้วยวัคซีนตัวเดิมจะดีกว่านิดหน่อยด้วย แต่ความแตกต่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
ผลการทดลองนี้ทำให้ทีมวิจัยเชื่อว่า อาจเป็นสาเหตุที่มาจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Original Antigenic Sin (OAS) ที่เกิดจากร่างกายเรียนรู้การสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนรูปแบบเดิมจากการถูกฉีดซ้ำ ๆ จนทำให้การเรียนรู้สิ่งใหม่จากวัคซีนตัวใหม่ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร พูดเป็นภาษาที่ฟังง่าย ๆ ก็คล้ายกับการเรียนภาษาไทยมาตั้งแต่เด็ก ฟังแต่ภาษาไทยจนคล่อง แล้วเพิ่งมาเริ่มเรียนภาษาอังกฤษตอนเราโตแล้ว การที่จะพูดภาษาอังกฤษให้สำเนียงตรงเป๊ะเหมือนเจ้าของภาษา จะทำได้ยากมาก ๆ การมีสำเนียงไทยปน ๆ มา ก็คล้าย ๆ กับภูมิคุ้มกันที่ไม่สามารถลืมภูมิจากวัคซีนตัวเดิมได้
ดร.อนันต์ ระบุว่า ผลการศึกษานี้เหมือนจะบอกว่า เราอาจจะคาดหวังกับวัคซีนรูปแบบใหม่ได้ไม่มากเท่าที่ควร การกระตุ้นด้วยวัคซีนรูปแบบเดิม ถ้าทำได้วันนี้เวลานี้ อาจไม่แตกต่างจากการรอวัคซีนรูปแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ประเด็นที่สำคัญที่ต้องเน้นคือ ผลการทดลองนี้ ยังไม่ใช่การทดสอบในมนุษย์ ซึ่งยังไม่มีข้อมูลว่า OAS ในมนุษย์จะเหมือนในลิงที่ทดสอบในการศึกษานี้หรือไม่ เพราะหลายครั้งผลในลิง กับในมนุษย์ก็ต่างกันอยู่