โควิด-19

ตัวเลขติดเชื้อพุ่งทะลุหมื่นครั้งแรก "โอไมครอน" ดัน หรือเพราะ "ประมาท"

ตัวเลขติดเชื้อพุ่งทะลุหมื่นครั้งแรก "โอไมครอน" ดัน หรือเพราะ "ประมาท"

05 ก.พ. 2565

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด พุ่งทะลุหมื่นครั้งแรก ระลอก ม.ค. 2565 สูงสุดในรอบ 5 เดือน "โอไมครอน" ดัน หรือเพราะ "ประมาท"

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ พุ่งเกิน 10,000 รายเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ระลอกมกราคม 2565 สูงสุดในรอบ 5 เดือน รวมทะลุ 14,738 ราย สะท้อนให้เห็นอะไรได้บ้าง "ประมาท" หรือ "โอไมครอน" ดันตัวเลขสูงขึ้น

 

 

โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้น 10,490 ราย ทำสถิติยอดติดเชื้อรายวัน เฉพาะการตรวจด้วยวิธี RT-PCR มากที่สุด นับตั้งแต่ต้นปีนี้ หรือนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา และยังทำสถิติสูงสุดเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน ตั้งแต่ต้นปีนี้อีกด้วย ที่สำคัญยังเป็นครั้งแรกที่มียอดติดเชื้อรายวันเกิน 10,000 ราย ตั้งแต่ต้นปีนี้ 

จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,490 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ 10,273 ราย และผู้ป่วยจากต่างประเทศ 217 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 2,486,122 ราย ขณะที่ จำนวนผู้ติดเชื้อจากการตรวจด้วยผลวิธี ATK รายใหม่จำนวน 4,248 ราย ดังนั้น หากนับรวมกันเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ สุทธิจะอยู่ที่ 14,738 ราย ซึ่งไม่เพียงทำสถิติยอดติดเชื้อรายวันสุทธิมากที่สุดเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน นับตั้งแต่ต้นปีนี้ หรือนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา แต่ยังทำสถิติติดเชื้อรายวันมากที่สุดในรอบ 5 เดือน หรือนับตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2564 ซึ่งในวันนั้น มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,403 ราย 

 

 

ยอดตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น มีนัยยะอะไรแฝงอยู่หรือไม่ หรือสอดรับกับ การระบาดของโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่อีกนัยหนึ่ง การผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ การรวมกลุ่มกันกินดื่มตามอัธยาศัย หรือ การกลับมาใช้มาตรการ Test & Go สำหรับการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นตัวกระตุ้นให้ตัวเลขการติดเชื้อ เพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่

 

 

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ยังมีความพยายามที่จะประกาศให้โรคระบาดโควิด-19 เป็น "โรคประจำถิ่น" ภายในปีนี้ ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนรวมเกินกว่า 10,000 ราย ทำสถิติสูงสุดทั้งในรอบปี 65 และในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา

 

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในช่วงขาขึ้น และจะคงอยู่ระยะหนึ่ง ตัวเลขผู้ติดเชื้อถึงจะค่อย ๆ ลดลง ตามหลักการระบาดวิทยา พร้อมชี้สาเหตุของการติดเชื้อ จากการติดเชื้อในครอบครัว เปรียบเทียบระหว่าง "เดลตา" กับ "โอไมครอน" พบว่า เมื่อครั้งการติดเชื้อเดลตา โอกาสที่คนในครอบครัวจะติดเชื้อมี 10-20% แต่หากเป็น "โอไมครอน" จะมีการติดเชื้อถึง 40-50%. ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อ ยังคงเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ หากมีการติดเชื้อ โอกาสเสียชีวิตมีถึง 100% ดังนั้น ควรมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะจะเห็นว่า การติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
 

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่อัตราตายไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นเท่ากับในอดีต เทรนด์ทั่วโลกขณะนี้ไม่ได้คำนึงถึงตัวเลขติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น แต่ให้ความสนใจเรื่องของอัตราการป่วยหนัก ปอดอักเสบ การใส่ท่อช่วยหายใจ และการเสียชีวิต หากตัวเลขตรงนี้มีการเปลี่ยนไป ก็แสดงถึงการควบคุมโรคว่าได้หรือไม่ โดยขณะนี้จำนวนป่วยหนักอยู่ที่ 500 คน จากเดิม 5,000 คน และจำนวนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 100 คนเศษ จากเดิม 1,300 คน ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้

 

 


นพ.โอภาส กล่าวว่า การติดเชื้อที่พบในขณะนี้มาจากคลัสเตอร์กลุ่มต่าง ๆ ทั้งจากการรับประทานอาหาร หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กิจกรรม ทั้งงานศพ งานบวช ดังนั้น ก็ขอให้ระมัดระวัง และเคร่งครัด หากสถานการณ์การติดเชื้อคงที่ ไม่มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามา ก็เชื่อว่าในปีนี้ มีโอกาสเป็น "โรคประจำถิ่น"