โควิด-19

"โอไมครอน" ไทยขาขึ้น อย่าประมาท ติดง่ายแต่ไม่แรง เจอภาวะ "Long COVID" ระยะยาว

"โอไมครอน" ไทยขาขึ้น อย่าประมาท ติดง่ายแต่ไม่แรง เจอภาวะ "Long COVID" ระยะยาว

07 ก.พ. 2565

"โอไมครอน" ไทยขาขึ้น "หมอธีระ" เตือนอย่าประมาท Omicron คิดว่าติดง่ายแต่ไม่รุนแรง เจอภาวะ "Long COVID" ส่งผลระยะยาว

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค Thira Woratanarat อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ "Omicron" หรือ "โอไมครอน" ล่าสุดวันนี้ (7 ก.พ.2565) ทะลุ 395 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,836,019 คน ตายเพิ่ม 6,221 คน รวมแล้วติดไปรวม 395,781,646 คน เสียชีวิตรวม 5,758,262 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็น ร้อยละ 90.11 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 80.64 ล่าสุด จำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้น คิดเป็นร้อยละ 52.43 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 29.43 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 9 ใน 20 อันดับแรกของโลก

"หมอธีระ" ระบุว่า ระลอก "Omicron"  ภาพรวมขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นขาลง เหลือบางประเทศในแถบอเมริกาใต้ และโอเชียเนีย ที่ยังเป็นช่วงขาขึ้นหรือช่วงพีค แต่ในทวีปเอเชียดูจะเป็นทวีปยังหนักกว่าเพื่อน โดยยังมีจำนวนประเทศอีกราว 20 ประเทศ ที่กำลังอยู่ในขาขึ้น หากดูอัตราการเปลี่ยนแปลงรายสัปดาห์ รวมถึงประเทศไทย บทเรียนที่ต้องระวังคือ การใช้กิเลสนำทาง หากโพล่งออกมาว่า ประเทศอื่นทั่วโลกเค้าเน้นผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรค 

 

 

 

ดังนั้น เราจะทำตามเขาสิ่งที่ต้องตระหนักคือ สถานการณ์ที่ต่างกันย่อมต้องส่งผลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ต่างกัน หากคนอื่นเขาเป็นขาลง คุมได้ดีขึ้น วัคซีนประสิทธิภาพสูง และคนได้รับอย่างครอบคลุมทุกช่วงอายุ โครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนต่าง ๆ เข้มแข็ง ประชาชนเข้าถึงบริการที่ต้องการจำเป็นได้อย่างไม่มีปัญหา ก็ย่อมตัดสินใจไปทางนึง 

แต่ในขณะที่หากเรายังเป็นขาขึ้น ผลลัพธ์การป้องกันควบคุมโรค สะท้อนออกมาให้เห็นกันชัดเจนในแต่ละวัน ทั้งที่ตัวเลขรายงานก็ยังไม่รวม ATK ที่ประชาชนดิ้นรนหาซื้อเพื่อตรวจกันเองอีกจำนวนไม่น้อย การเข้าถึงบริการในหลายพื้นที่ก็ยังมีความจำกัด การตัดสินใจเชิงนโยบายด้านการควบคุมป้องกันโรคย่อมจำเป็นต้องใช้สติ และปัญญา ตามข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย ดังที่เห็นมาในระลอกสอง และระลอกสาม การยกเหตุผลว่าติดง่ายก็จริง แต่ไม่รุนแรง ตัวเลขป่วยนอนไอซียู หรือใส่ท่อช่วยหายใจน้อย ตายไม่มากเมื่อเทียบกับเดลตานั้น เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ยัง
ไม่ครบถ้วนเพื่อใช้ตัดสินใจนโยบายระดับชาติ เรื่องที่ควรนำเข้าสู่การพิจารณาสุดท้ายอีกเรื่องที่สำคัญยิ่งคือ โอกาสที่จะเกิดปัญหาระยะยาว ภาวะอาการคงค้าง หรือ Long COVID ที่ทั่วโลกต่างประสบปัญหา และต่างเร่งรีบหาทางป้องกัน และเตรียมรับมือ

 

 

 

ทั้งนี้ หากยังระบาดรุนแรง แต่ป้องกันควบคุมโรคไม่ดี ผ่อนคลายใช้ชีวิตเสรี การติดเชื้อย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และจำนวนผู้ที่จะได้รับผลกระทบจาก 
Long COVID ย่อมสูงขึ้น ส่งผลกระทบระยะยาว ทั้งต่อบุคคล ครอบครัวระบบสาธารณสุข และประเทศ สำหรับประชาชน สิ่งที่เราควรทำในสถานการณ์เช่นนี้คือ การพึ่งตนเอง ดูแลตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้ดี ป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตร ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท