โควิด-19

"ติดโควิด" เตือน Long COVID วัยรุ่นเจอหนัก-เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด 2 เท่า

"ติดโควิด" เตือน Long COVID วัยรุ่นเจอหนัก-เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด 2 เท่า

08 ก.พ. 2565

"ติดโควิด" ต้องเจอภาวะอะไรบ้าง หมอธีระ เตือน Long COVID เพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาหัวใจและหลอดเลือด ถึง 1.5-2 เท่า แถมวัยรุ่น เจอภาวะคงค้างนานกว่า 3 เดือน

อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้ติดเชื้อที่ "ติดโควิด" และผู้เสียชีวิต ล่าสุด "หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanaratระบุว่า ทะลุ 397 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,698,290 คน ตายเพิ่ม 7,204 คน รวมแล้วติดไปรวม 397,799,604 คน เสียชีวิตรวม 5,767,112 คน 5

 

 

อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย เยอรมัน อเมริกา ตุรกี และญี่ปุ่น จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.93 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 81.94 ล่าสุด จำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้น คิดเป็นร้อยละ 52.14 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 36.67 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรป ครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 10 ใน 20 อันดับแรกของโลก

 

 

\"ติดโควิด\" เตือน Long COVID วัยรุ่นเจอหนัก-เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด 2 เท่า

นอกจากนี้ "หมอธีระ" ได้อัปเดตสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" Omicron in Asia ระบุว่า ในขณะที่ทวีปอื่นเป็นขาลงกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ทวีปเอเชียกำลังขาขึ้น เพราะเริ่มช้ากว่าเค้า ตอนนี้หลายประเทศในเอเชียกำลังอยู่ช่วงพีค เช่น ตุรกี ญี่ปุ่น อิหร่านเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย แต่อีกหลายประเทศกำลังอยู่ในขาขึ้น เป็นช่วงอัตราเร่ง และน่าจะพีคในไม่ช้า อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย และ "ไทย" วันแห่งความรัก หรือวันวาเลนไทน์ปีนี้ แต่ละประเทศควรรณรงค์ให้ประชาชน โดยเฉพาะวัยรุ่นและวัยทำงาน แสดงออกถึงความรักที่มีต่อกันอย่างระมัดระวัง การไปเที่ยวหรือกินดื่ม คงต้องหลีกเลี่ยงที่แออัด ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด

 


อัปเดตเรื่องสำคัญสำหรับ Long COVID 2 เรื่อง

 

หนึ่ง "การติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาหัวใจและหลอดเลือด ณ 12 เดือน ถึง 1.5-2 เท่า" เป็นผลการศึกษาล่าสุดโดย Xie Y และคณะ จากสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ใน Nature Medicine เมื่อ 7 มกราคม 2022 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ความเสี่ยงนั้นเพิ่มขึ้นทั้งในคนที่ติดเชื้อแล้วป่วยรุนแรงต้องนอนไอซียู หรือนอนโรงพยาบาล รวมถึงคนที่ไม่ได้นอนโรงพยาบาล ตอกย้ำให้เราทราบว่า แม้ติดเชื้อและรักษาจนหายแล้ว แต่ภาวะอาการคงค้างระยะยาว หรือ "Long COVID" นั้นก็จะเกิดขึ้นได้ และเป็นผลกระทบระยะยาวต่อผู้ติดเชื้อ

สอง "เด็กวัยรุ่นที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ก็พบ Long COVID ได้ และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการเรียน" งานวิจัยสองชิ้น จากสหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก

 

 

Stephenson T และคณะจากสหราชอาณาจักร ศึกษาในวัยรุ่นอายุ 11-17 ปี ราว 7,000 คน พบว่า วัยรุ่นที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน จะมีปัญหาอาการคงค้างต่าง ๆ นานกว่า 3 เดือน มากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบที่ไม่เคยติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ อาการคงค้างที่เกิดขึ้นนั้น มีทั้งอาการผิดปกติทางกาย และทางจิตใจ/อารมณ์

 

 

Berg SK และคณะ ศึกษาในวัยรุ่นอายุ 15-18 ปี กว่า 24,000 คนในประเทศเดนมาร์ก พบว่า กลุ่มวัยรุ่นที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นจะประสบปัญหาการเจ็บป่วย และต้องขาดเรียน มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ติดเชื้อ เฉลี่ยราว 16 วัน ในช่วง 3-9 เดือนหลังการติดเชื้อ ตอกย้ำให้ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญในการให้คำแนะนำ และดูแลลูกหลาน ให้ป้องกันตัวเป็นกิจวัตร เพราะติดเชื้อแล้วเกิดปัญหาระยะยาวได้เช่นกัน ในขณะที่รัฐเองก็คงต้องพิจารณาให้ดีเรื่องมาตรการป้องกันการติดเชื้อในเด็กและวัยรุ่น รวมถึงการสร้างระบบการดูแลระยะยาวสำหรับเด็กและวัยรุ่น ที่ได้รับผลกระทบจาก ภาวะ Long COVID

 

 

"หมอธีระ" เน้นย้ำว่า พวกเราทุกคน ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็กว่า หากไม่สบาย แม้อาการจะเล็กน้อย ควรแจ้งคนใกล้ชิด แจ้งคนในที่ทำงาน หยุดปฏิบัติงานหรือหยุดเรียน และไปตรวจรักษาจนหายดี เพราะช่วงนี้มีการระบาดทั้งในสถานศึกษาและที่ทำงานมาก จำเป็นต้องช่วยกันแสดงความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ใส่หน้ากากเสมอ อยู่ห่างคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น