โควิด-19

"โอไมครอน" ทำติดเชื้อในครอบครัวสูงขึ้น กทม.ตัวเลขแตะหลักพันนานเป็นเดือน

"โอไมครอน" ทำติดเชื้อในครอบครัวสูงขึ้น กทม.ตัวเลขแตะหลักพันนานเป็นเดือน

09 ก.พ. 2565

"โอไมครอน" ระบาดในกรุงหนัก ทำติดเชื้้อในครอบครัวเพิ่มมากขึ้นส่วนใหญ่พบเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน ดันตัวเลขผู้ติดเชื้อแตะหลักพันนานเป็นเดือน

นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการ แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 พื้นที่กรุงเทพมหานครว่า วันนี้ กรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อใหม่ 2,757 ราย กระจายตัวทั่วทุกเขต โดย 10 อันดับแรก ที่ติดเชื้อสะสมสูงสุดในระลอกใหม่ ซึ่งเป็นการระบาดของสายพันธุ์ "โอไมครอน" คือ 

 

  • ราชเทวี 1,463 ราย 
  • จอมทอง 1,340 ราย 
  • บางกอกน้อย 1,267 ราย 
  • สายไหม 1,122 ราย 
  • ประเวศ 1,058 ราย 
  • จตุจักร 1,047 ราย ห้วยขวาง 986 ราย 
  • บางแค 969 ราย หลักสี่ 908 ราย 
  • บางเขน 894 ราย 

นพ.สุทัศน์  กล่าวต่อว่า การติดเชื้อระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นเชื้อ "โอไมครอน" ซึ่งเกิดการติดเชื้อกระจายตัวทุกกลุ่มอายุ ขณะนี้เริ่มพบมากในกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน และนักเรียนชั้น ม.ปลาย ส่วนปัจจัยเสี่ยงมาจากการ สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน และเข้าไปพื้นที่แออัด ใช้บริการสถานที่อากาศปิด เช่น ร้านอาหารที่ปรับมาจากผับ บาร์   

 

จากสถานการณ์การระบาดของ "โควิด-19" ในกรุงเทพมหานครขณะนี้ พบการกระจายในครอบครัวง่ายขึ้น เกิดการติดเชื้อเกือบทุกคนในครอบครัว เพราะเชื้อแพร่ง่าย รวมไปถึงการหย่อนมาตรการในครอบครัว   สำหรับการเสียชีวิต พบว่า หญิงและชายมีการเสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวนใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว มีประวัติรับวัคซีนไม่ครบหรือไม่ได้รับ อย่างไรก็ตาม พบว่าตัวเลขการเสียชีวิตลดลง แสดงว่าตัวโรคไม่รุนแรง การเสียชีวิตค่อนข้างน้อย อีกส่วนที่แสดงว่าอาการไม่รุนแรง คือ ผู้ที่มีอาการป่วยตรวจ ATK ได้ผลเป็นบวก ดูแลพักผ่อนที่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นอาการสีเขียว มีสีเหลืองส่วนน้อย จนถึงตอนนี้ยังไม่ค่อยพบสีแดง
 

สรุปสถานการณ์การติดเชื้อ แนวโน้มสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงขึ้นจริง พบประมาณ 1,800-2,000 รายต่อวัน ลักษณะของโรคยังไม่แสดงลักษณะอาการรุนแรง ซึ่งมีความสอดคล้องกับการแพร่ระบาดของ "โอไมครอน" ปัจจัยเสี่ยงกระจายตัวทุกกลุ่มอายุ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ ติดจากการพบผู้ป่วยยืนยัน ปฏิบัติงานพื้นที่เสี่ยง แหล่งชุมชน รวมตัวทำกิจกรรม การรวมกลุ่มสังสรรค์ในร้านอาหารกึ่งผับบาร์ การเสียชีวิตลดลงจาก 5-10 รายต่อวัน เหลือ 1-2 รายต่อวัน เน้นย้ำมาตรการป้องกันตนเองโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คัดกรอง ATK ก่อนปฏิบัติงาน และปฏิบัติตนเองเรื่อง COVID Free Setting 

 

 

อย่างไรก็ตาม อัตราการป่วย และติดเชื้อของประชาชนในกรุงเทพม มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่จะไม่มากไปกว่านี้  และคาดว่าจะสามารถทรงตัวได้  ทั้งนี้การติดเชื้อในกรุงเทพฯ ที่สูงขึ้น เป็นไปตามคาดการณ์ และสอดคล้องกับสถานการณ์ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งยังมาจากปริมณฑลที่บริษัทต่างๆ ส่งพนักงานที่ติดเชื้อเข้าไปรักษาด้วย และยังต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อจากผู้ที่กลับเข้าไปทำงาน สำหรับคลัสเตอร์ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ยังเป็นแหล่งชุมชน ตลาด พบบ้างประปราย ส่วนค่ายมวยก่อนหน้านี้พบ ขณะนี้ปรับปรุง ก็ไม่พบแล้ว ส่วนแคมป์ก็พบน้อยลง