โควิด-19

เข้าขั้นวิกฤต ไทยเจอ "โอไมครอน" 40 วัน ติดเชื้อพุ่ง 5.5 เท่า ตายเพิ่ม 1.3 เท่า

เข้าขั้นวิกฤต ไทยเจอ "โอไมครอน" 40 วัน ติดเชื้อพุ่ง 5.5 เท่า ตายเพิ่ม 1.3 เท่า

11 ก.พ. 2565

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อัปเดต สถานการณ์ เชื้อไวรัส โควิด-19 "โอไมครอน" ในประเทศไทย รายงาน 40 วัน ทำติดเชื้อพุ่ง 5.5 เท่า ตายเพิ่มอีก 1.3 เท่า

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun อัปเดต สถานการณ์ เชื้อไวรัส โควิด-19 "โอไมครอน" ในประเทศไทยโดยรายละเอียดทั้งหมดมีดังนี้ 

 

 

ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ประมาทไม่ได้ "โอไมครอน" (Omicron) ไทยขยับตัวขึ้นชัดเจน ติดเชื้อเพิ่ม 5.5 เท่าใน 40 วัน เสียชีวิตเพิ่ม 1.3 เท่า แต่ผู้ป่วยหนักลดลงเหลือ 0.7 เท่า โควิดระบาดระลอกที่สี่ของประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 1 มกราคม 2565 ด้วยไวรัสโอไมครอน

เร่งระดมฉีดวัคซีนเข็ม 3 โดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มที่ติดเชื้อ "โอไมครอน" แล้วเสี่ยงต่อการป่วยหนักและเสียชีวิตคือ ผู้อายุมากกว่า 60 ปี และมีโรคประจำตัว ในภาคประชาชนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง พอเหมาะพอดี ไม่ตระหนก และตระหนักไม่ประมาทว่าโอไมครอน ติดเชื้อง่าย กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่จำนวนผู้ป่วยหนักจะยังไม่เพิ่มขึ้น จะต้องช่วยกันระมัดระวัง เพื่อทำให้ระบบสุขภาพสามารถรองรับโควิดระลอกนี้ได้อย่างดีต่อไป

 

 

นับถึงวันที่ 9 ก.พ. เป็นเวลา 40 วันเต็ม สมควรที่จะมาทบทวนจำนวนผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" ผู้เสียชีวิต และผู้ป่วยหนัก ว่ามีทิศทางแนวโน้มอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกับทิศทางสถานการณ์ในต่างประเทศอย่างไรบ้าง จากข้อมูลของต่างประเทศ และข้อมูลทางวิชาการพอจะสรุปเบื้องต้นได้ว่า ไวรัสโอไมครอนแพร่เชื้อเร็วขึ้น

 

 

ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดลต้า 4-6 เท่า // ไวรัสโอไมครอนทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการที่รุนแรงน้อยลง 3.5 เท่า // ไวรัสโอไมครอนดื้อต่อวัคซีน 2 เข็มชัดเจน ต้องฉีดกระตุ้นอย่างน้อย 3 เข็มขึ้นไป

 



สำหรับตัวเลขของประเทศไทยใน 40 วันที่ผ่านมา พบว่าใน 3 สัปดาห์แรกคือวันที่ 1-21 มกราคม 2565 เป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน ในสัปดาห์ที่ 4 วันที่ 22-31 มกราคม ถือว่าเป็นช่วงทรงตัวไม่เพิ่มขึ้นไม่ลดลง ในสัปดาห์ที่ 5-6 ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผู้ติดเชื้อเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

 

 

 

โดยตัวเลขสถิติในวันที่ 1 มกราคม ติดเชื้อ "โอไมครอน" จากตรวจ PCR 3011 ราย // ติดเชื้อจากตรวจ ATK 434 ราย // ติดเชื้อรวม 3445 ราย

 

  • 21 มกราคม 2565 ติดเชื้อจากตรวจ PCR 8640 ราย // ติดเชื้อจากตรวจ ATK 3356 ราย // ติดเชื้อรวม 11,996 ราย

 

  • 9 กุมภาพันธ์ 2565 ติดเชื้อจากตรวจ PCR 13,182 ราย // ติดเชื้อจากตรวจ ATK 5928 ราย // ติดเชื้อรวม 19,110 ราย

 


ทำให้เห็นว่าผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" จากการตรวจด้วย PCR มีอัตราการเพิ่มขึ้นในช่วง 40 วันที่ผ่านมา 4.4 เท่าตัว และถ้าดูผู้ติดเชื้อรวม จะมีการเพิ่มขึ้น 5.5 เท่าตัว ในส่วนของผู้ป่วยหนัก และผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ ในวันที่ 1 มกราคม 583 และ 158 รายตามลำดับ 21 มกราคม 540 และ 118 ราย // 9 กุมภาพันธ์ 547 และ 111 ราย จึงเห็นได้ว่าผู้ป่วยหนัก และผู้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีการลดลงเล็กน้อยอยู่ประมาณ 0.7-0.9 เท่าตัว

 


ส่วนการเสียชีวิตในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมกราคมเสียชีวิตเฉลี่ย 15 รายต่อวัน และในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์เสียชีวิต 19 รายต่อวัน คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 1.3 เท่า จึงสรุปสถานการณ์ประเทศไทยใน 40 วันได้ดังนี้ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 4.4-5.5 เท่าตัว // ผู้ป่วยหนักลดลงเหลือ 0.7-0.9 เท่าตัว // ผู้เสียชีวิตเพิ่มเล็กน้อย 1.3 เท่าตัว

 



จึงยังจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด และประมาทไวรัส "โอไมครอน" ที่ก่อโรคโควิดระลอกสี่ไม่ได้เลย โดยสิ่งที่จำเป็นต้องทำในขณะนี้ได้ ได้แก่ ภาครัฐต้องส่งสัญญาณให้ประชาชนหรือสาธารณะระมัดระวังต่อไป ควรงดเว้นการพูดถึงเรื่องที่ผ่อนคลายในช่วงโควิดขาขึ้น เช่น เรื่องโรคประจำถิ่น เรื่องเหมือนไข้หวัดธรรมดาไว้ก่อน รวมทั้งมาตรการที่อาจมีผลกระทบจะต้องพิจารณาทบทวนโดยเร็วและรอบคอบถ้าจำเป็น เช่น Test&Go