อย่าประมาท "โอไมครอน" ตัวเลขผู้ติดเชื้อไทยอาจขึ้นไปถึงหลักแสนรายต่อวัน
หมอขวัญชัย อัปเดต "โอไมครอน" ความแตกต่างระหว่างไทยกับต่างประเทศ ไทยระบาดต่ำกว่าต่างประเทศ ยังอยู่ช่วงขาขึ้น เป็นไปได้ว่าอาจขึ้นไปถึงหลักแสนรายต่อวัน แต่มาตรการและความร่วมมือของคนไทย เชื่อว่าตัวเลขน่าจะสูงกว่าปัจจุบันไม่มาก เชื่อแนวโน้มดีกว่าทั่วโลก
ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo เรื่อง อัปเดตสถานการณ์การระบาดของ "โอไมครอน" ในโลกและในไทย เหมือนหรือต่างกันอย่างไร มีข้อความว่า
รูปที่ 1 แสดงจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน (เฉลี่ย 7 วัน) ในทวีปต่างๆและทั่วโลก จะเห็นว่าอัตราการระบาดของ "โอไมครอน" สูงกว่าเดลตาราว 5 เท่า (เดลตาสูงสุดประมาณ 7 แสนรายต่อวัน "โอไมครอน" 3 ล้านรายต่อวัน) และใช้เวลาขึ้นถึงจุดสูงสุดสั้นกว่าเดลตาราว 2 เท่า (เดลตา 3 เดือน "โอไมครอน" 4-6 สัปดาห์) ซึ่งขณะนี้เห็นได้ชัดเจนว่าเลยจุดสูงสุดและกำลังอยู่ในขาลงทั่วโลก
รูปที่ 2 แสดงจำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน (เฉลี่ย 7 วัน) ในทวีปต่างๆและทั่วโลก จะเห็นว่าค่อนข้างใกล้เคียงกันในทั้ง 2 ระยะของการระบาด คือสูงสุดราว 10,000 รายต่อวัน
รูปที่ 3 แสดงอัตราการป่วยตาย (เฉลี่ย 7 วัน) ในทวีปต่างๆและทั่วโลก จะเห็นว่าอัตราการป่วยตายของ "โอไมครอน" ในทวีปต่างๆต่ำกว่าเดลตาราว 4 เท่า (เดลตาสูงสุดประมาณ 2% "โอไมครอน" 0.5%) แต่มีข้อสังเกตคือในทวีป อัฟริกามีอัตราการป่วยตายจาก "โอไมครอน" ค่อนข้างสูงกว่าทวีปอื่นๆ แต่ก็ยังมีแนวโน้มต่ำกว่าเดลตาพอสมควร (เดลตาสูงสุด 3.5% โอไมครอน 1.5%)
กลับมาดูข้อมูลของประเทศไทยเพื่อเปรียบเทียบว่าเหมือนหรือต่างจากที่อื่นอย่างไร
รูปที่ 4 แสดงจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน (เฉลี่ย 7 วัน) ในประเทศไทย จะเห็นว่าการระบาดของ "โอไมครอน" ในไทยค่อนข้างช้าและต่ำกว่าประเทศอื่นๆทั่วโลก โดยขณะนี้ถือว่ายังเป็นขาขึ้นและไม่ถึงจุดสูงสุด (เดลตาสูงสุด 2 หมื่นกว่ารายต่อวัน "โอไมครอน" ยังอยู่ที่ 1 หมื่นกว่ารายต่อวัน) ซึ่งถ้าเป็นไปตามทิศทางของทั่วโลกที่ "โอไมครอน" มีอัตราการระบาดสูงกว่าเดลตาราว 5 เท่า ก็มีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยอาจขึ้นไปถึงหลักแสนรายต่อวัน แต่ด้วยมาตรการการควบคุมโรค อัตราการฉีดวัคซีน และความร่วมไม้ร่วมมือของคนไทย เชื่อว่าตัวเลขน่าจะสูงกว่าปัจจุบันไม่มากนัก
รูปที่ 5 แสดงจำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน (เฉลี่ย 7 วัน) ในประเทศไทย จะเห็นว่ามีผู้เสียชีวิตจาก "โอไมครอน" ต่ำกว่าเดลตาราว 6 เท่า (เดลตาสูงสุดเกิน 200 รายต่อวัน โอไมครอนน้อยกว่า 30 รายต่อวัน)
รูปที่ 6 แสดงอัตราการป่วยตาย (เฉลี่ย 7 วัน) ในประเทศไทย จะเห็นว่าอัตราการป่วยตายของ "โอไมครอน" ในไทยต่ำกว่าเดลตาราว 6 เท่าเช่นกัน (เดลตาสูงสุด 1.5% โอไมครอน 0.25%)
ดังนั้น ถ้าเราติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลตามความเป็นจริงแบบไม่อคติ ต้องถือว่าการระบาดของ "โอไมครอน" ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีกว่าของทั่วโลกพอสมควร ยังไม่มีตัวบ่งชี้ใดๆที่ย่ำแย่กว่าที่อื่นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท ต้องช่วยกันประคับประคองไม่ให้สถานการณ์แย่ลงกว่านี้มากและเร็วเกินไป เพราะหากเมื่อใดมีผู้ป่วยมากจนเกินศักยภาพการรักษาพยาบาลของประเทศ ความสูญเสียย่อมจะติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้