โควิด-19

"วัคซีนโควิด" เสียชีวิตหลังฉีด 2,081 ราย ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคร่วมสูงสุด

"วัคซีนโควิด" เสียชีวิตหลังฉีด 2,081 ราย ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคร่วมสูงสุด

18 ก.พ. 2565

"วัคซีนโควิด" เสียชีวิตแล้ว 2,081 ราย ตายจากวัคซีนโดยตรง 4 ราย ส่วนใหญ่เจอในกลุ่มมีโรคร่วม พบอาการแพ้รุนแรง 79 ราย

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการแถลง ระบบเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังฉีด "วัคซีนโควิด" ว่า ที่ผ่านมาได้มีการติดตามอาการ 30 วัน โดยขณะนี้วัคซีนฉีดไปแล้วมากกว่า 120 ล้านโดส ส่วนใหญ่พบอาการข้างเคียงไม่รุนแรง เช่น ไข้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว ขณะที่ตรวจพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง ดังนี้

  • อาการแพ้รุนแรง 79 คน เสียชีวิต 1 คน แบ่งเป็น 
  • ผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวค 43 คน เสียชีวิต 1 คน 
  • แอสตราเซนเนกา 22 คน ซิโนฟาร์ม 3 คน และไฟเซอร์ 11 คน

 

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ หรือ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ 31 คน

  • พบในผู้ฉีดวัคซีนแอสตราฯ 1 คน
  • พบในผู้วัคซีนซิโนฟาร์ม 1 คน
  • พบในผู้วัคซีนไฟเซอร์ 29 คน
  •  

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ  6 คน เสียชีวิต 2 คน 

  • จากการฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนก้า 5 คน เสียชีวิต 2 คน
  • ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 1 คน

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า ผู้เสียชีวิตภายหลังฉีด "วัคซีนโควิด" ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.พ.65 ได้รับรายงาน 2,081 คน คณะผู้ชี่ยวชาญพิจารณาแล้ว 1,464 คน สรุปว่าเป็นเหตุการณ์เสียชีวีตที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน 4 คน แบ่งเป็น ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 2 คน แพ้รุนแรงร่วมกับภาวะช็อก 1 คน ภาวะสตีเวนจอห์นสันซินโดรม ผิวหนังลอกบวม 1 คน 

 

 

สำหรับผู้เสียชีวิต 177 คน เป็นเหตุการณ์ที่ไม่อาจสรุปได้ชัดเจน ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ได้แก่

โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ 116 คน

  • เลือดออกในสมอง 19 คน
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 2 คน
  • ภาวะอื่นๆ 40 คน  

 

ส่วนผู้เสียชีวิต 938 คน ตรวจสอบพบว่าเป็นเหตุการณ์ร่วมกับภาวะโรคอื่น ได้แก่

  • เลือดออกในสมอง 67 คน
  • ติดเชื้อของระบบประสาทและสมอง 2 คน
  • ปอดอักเสบรุนรแง 402 คน
  • ในจำนวนนี้เกิดจากโควิด 362 คน
  • โรคเกี่ยวกับหัวใจ 163 คน
  • ผลการสอบสวนโรคเด็กอายุ 12 ปีเสียชีวิตเพราะวัคซีนโควิด

 

ส่วนผลการสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนของเด็กอายุ 12 ขวย พบว่าเด็กได้ฉีดไฟเซอร์เข็มแรก เมื่อวันที่ 25 ม.ค.65 หลังฉีดวัคซีน พักดูอาการ 30 นาที ไม่มีอาการผิดปกติ แต่เมื่อกลับถึงบ้านมีอาการไข้และปวดเมื่อยตามตัว ปวดขาข้างซ้าย  3 วันถัดมา เด็กมีอาการปวดเข่า จึงไปตรวจรักษาที่คลินิก เนื่องจากมีอาการปวดขาทั้ง 2 ข้างมากขึ้น และอ่อนแรง

 

โดยในวันที่ 2-3 ก.พ.65 อาการไม่ดีขึ้น จึงไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ด้วยอาการอ่อนแรง ยกขาไม่ขึ้น ขาลายทั้ง 2 ข้าง และไม่ได้ปัสสาวะเป็นเวลานาน ตรวจร่างกายพบมีไข้สูง ขามีรอยจ้ำเขียว แต่บริเวณที่ฉีดวัคซีนไม่มีรอยบวมแดง แพทย์สงสัยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด จึงส่งต่อไปยังโรงพยาบาลกระบี่ แพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะและสารน้ำ แต่อาการไม่ดีขึ้น กระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 3 ก.พ.65

 

อย่างไรก็ตามสำหรับ ผลการตรวจในห้องปฏิบัติการพบเม็ดเลือดขาวสูง การเพาะเชื้อพบเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus คณะผู้เชี่ยวชาญร่วมกับแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย

สรุปว่าเสียชีวิตจากภาวะเข่าอักเสบจากการติดเชื้อ ร่วมกับการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยไม่พบลักษณะการติดเชื้อในบริเวณที่ฉีดวัคซีน จึงสรุปว่าการเสียชีวิตไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่บังเอิญเกิดในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ต้องแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้สูญเสีย