โควิด-19

หายป่วย "โควิด" ต้องไม่พลาดทำ 3 สิ่งนี้ ป้องกันภาวะ "Long COVID" ได้ผลแน่

หายป่วย "โควิด" ต้องไม่พลาดทำ 3 สิ่งนี้ ป้องกันภาวะ "Long COVID" ได้ผลแน่

21 ก.พ. 2565

กรมอนามัยแนะ หายป่วย "โควิด" หากไม่เจอภาวะลองโควิด ต้องไม่พลาดทำ 3 สิ่งนี้ ป้องกันภาวะ "Long COVID" ได้ผล แถมสุขภาพดีขึ้น

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" ที่กำลังแทนที่สายพันธุ์เดลตา อยู่ในขณะนี้ ซึ่งด้วยคุณสมบัติพิเศษ ที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบัน พบตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ทำให้แพทย์หลายคนกังวลใจ และเป็นห่วง คือภาวะ "Long COVID" หรือ ลองโควิด ที่พบว่า มีความรุนแรง และพบมากถึง 200 อาการ ทำให้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

 

 

 

ล่าสุด นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้คำแนะนำในการดูแลตัวเอง หลังจากจากโควิด เพื่อป้องกันภาวะ "Long COVID" โดยระบุว่า ผู้ป่วยกลุ่มอาการลองโควิด-19  หรือผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อแล้ว  ควรหมั่นสังเกตอาการ และเฝ้าระวังภาวะ "ลองโควิด" ของตนเองอยู่เสมอ รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างเสริมสุขอนามัยด้วย 3 เคล็ดลับ ดังนี้

 

 

  1. นอนหลับพักผ่อนให้เหมาะสม โดยตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน รับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้าอย่างน้อย 30 นาที หลีกเลี่ยงคาเฟอีน อาหารมื้อดึก งดการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน
  2. พัฒนากล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ ได้แก่ กล้ามเนื้อกะบังลม และกล้ามเนื้อยึดซี่โครง ด้วยการฝึกหายใจเข้าและออก โดยในแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 5 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อรอบ ประมาณ 3 - 5 รอบ และระหว่างรอบให้พัก 30 - 60 วินาที จะช่วยเพิ่มความสามารถในการหายใจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดอาการเหนื่อย หายใจลำบาก ช่วยขับเสมหะ และป้องกันการเกิดภาวะปอดแฟบ โดยสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมทั้งควรออกกำลังกายแบบแอโรบิก หรือคาร์ดิโอ ประมาณวันละ 30 - 60 นาที 3 - 5 วันต่อสัปดาห์ เช่น การเดินเร็ว รอบบ้าน ย่ำเท้าอยู่กับที่ การเต้นแอโรบิก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหายใจ การไหลเวียนของเลือด การทำงานของหัวใจและปอด ทำให้ไม่เหนื่อยง่าย

3. ควรมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ บริเวณกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนบนสะบัก และลำตัวด้านข้าง เพราะเป็นกลุ่มกล้ามเนื้อที่ช่วยขยายกระบังลมและซี่โครง 
ทำให้หายใจได้ดีขึ้น หากกล้ามเนื้อเหล่านี้มีการตึงตัว ยึดเกร็ง ทรวงอกจะไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่ พื้นที่ในทรวงอกลดน้อยลง ทำให้สมรรถภาพ การทำงานของปอดลดลงได้ 

 

 

 

ดังนั้น ควรมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อด้วยการเหยียดแขน โก่งหลัง ชูแขนเอียงลำตัว และผสานมือที่ศีรษะ กางศอก แอ่นอก ยืดเหยียดในแต่ละท่าจนรู้สึกตึง ค้างไว้ 15 วินาที ให้ปฏิบัติท่าละ 2 รอบ อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้ปอดแข็งแรง ทั้งนี้ การฝึกบริหารปอด ออกกำลังกายแบบแอโรบิก และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ควรทำเป็นประจำ เพื่อฟื้นฟูร่างกาย สร้างสุขภาพที่ดี