ดีเดย์ 1 มี.ค. ปรับ "รักษาโควิดฟรี" ตามสิทธิ มีโรคร่วมรุนแรงใช้ UCEP Plus ได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เซ็นลงนามให้ "รักษาโควิดฟรี" ตามสิทธิแล้ว มีผลวันที่ 1 มี.ค.นี้ ส่วนมีโรคร่วมติดโควิดอาการรุนแรงใช้สิทธิ UCEP Plus รักษาทุกที่ได้
วันนี้ 21 ก.พ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการปรับโรคโควิด-19 ไปสู่การรักษาตามสิทธิ ว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ตนได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ "รักษาโควิดฟรี" ตามสิทธิ ตามที่ นพ.ธเรศ กรัษรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้นำเสนอขึ้นมา
โดยจะมีผลเริ่มวันที่ 1 มี.ค.นี้ และได้กำชับให้อธิบดี สบส.ไปชี้แจงให้สาธารณชนรับทราบว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิหรือยกเลิก แต่เป็นการกำหนดขั้นตอนและมาตรฐานให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดการใช้งบประมาณได้เกิดประโยชน์สูงสุด
หากมีอาการฉุกเฉินวิกฤตยังสามารถใช้สิทธิ UCEP รักษาทุกที่ได้ ส่วนอาการฉุกเฉินใช้ UCEP Plus ซึ่งจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นตอนออกมา แต่ในทางปฏิบัติคิดว่าไม่มีปัญหาเรื่องการให้บริการ
นายอนุทินกล่าวด้วยว่า สำหรับ UCEP Plus ไม่ได้ดูแลเฉพาะผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีโรคร่วม ผู้ที่มีอาการรุนแรงเพียงอย่างเดียว แต่หากผู้ติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มสีเขียว ที่อยู่ในระหว่างการรักษาที่บ้านและชุมชน (Home and Community Isolation) แล้วอาการเปลี่ยนแปลง มีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ก็สามารถใช้สิทธินี้ได้ เพื่อเข้า "รักษาโควิดฟรี" ในภายเร่งด่วนฉุกเฉิน
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่พบว่าติดเชื้อโควิด-19 ให้ลงทะเบียนผ่านระบบ 1330 ทั้งสายด่วนและไลน์ @nhso ซึ่งตนได้ประสานให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มคู่สายรองรับแล้ว ส่วนผู้ที่ไม่สะดวกอยู่ที่พักอาศัยแบบ HI เราก็มี CI รองรับได้อยู่ โดย กทม.ยืนยันกับ สธ.ว่า HI/CI มีความพร้อม นอกจากนั้น ยังมีเตียงสนามของภาคเอกชนด้วย
นอกจากนี้ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้เข้ามาหารือเพื่อขอให้กระทรวงจัดหายาฟ้าทะลายโจรเพิ่มเติมประมาณ 10 ล้านเม็ด เพื่อใช้สำหรับดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการ เพราะหากให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ จะเป็นการให้ยาที่เกินขนาดไป โดยยาฟ้าทะลายโจรจะบรรจุอยู่ในชุดดูแลผู้ป่วย HI ทั้งนี้เป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์
เมื่อถามย้ำว่า ปรับระบบการ "รักษาโควิดฟรี" ตามสิทธิ ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 มี.ค. 2565 เป็นต้นไปนั้น ในระยะแรกหากมีประชาชนหลงสิทธิไปรักษาใน รพ.ที่ไม่ได้อยู่ในสิทธิ จะรองรับอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า เราประชาสัมพันธ์เรื่องนี้มาสักระยะแล้ว ก็จะประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การรักษาใน รพ. คือคนที่มีอาการเหลือง แดง ซึ่งถือเป็นอาการฉุกเฉิน แต่หากไม่ฉุกเฉินแล้วเลือก หรือประสงค์จะไปที่ รพ.เอกชน กรณีอย่างนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง