โควิด-19

"โอไมครอน" ดันตัวเลขเด็กป่วยพุ่ง เตียงแน่น ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ต้องสังเกตุ?

"โอไมครอน" ดันตัวเลขเด็กป่วยพุ่ง เตียงแน่น ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ต้องสังเกตุ?

21 ก.พ. 2565

"โอไมครอน" ดันตัวเลขเด็กติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น 80% ส่งผลเตียงแน่น ต้องเน้น HI ดูอาการเด็กในรายละเอียด ส่วนใหญ่ไม่มีอาการแต่ติดเชื้อต้องให้ยาต่อเนื่อง

นพ.อดิศักดิ์ ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยถึงสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์ "โอไมครอน" ที่ขณะนี้พบอัตราในเด็กเพิ่มสูงขึ้นว่าภาพรวมหนาแน่นประมาณ 80% จึงนำนโยบาย Home Isolation (HI) มาใช้ในเด็กอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป และไม่มีอาการ เพื่อมารักษาตามระบบ โดยพบว่า มีสัดส่วนของเด็กที่นอนโรงพยาบาลมีประมาณ 15-17% ส่วนอีก 50% ไม่มีอาการ และมีอาการหนักประมาณ 2.2 %

 

สาเหตุการติดเชื้อในเด็กเพิ่มมากขึ้น มาจากเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน และเป็นการติดเชื้อในครอบครัว เด็กบางส่วนเปิดเรียนตามปกติ ทำให้การติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเชื้อ "โอไมครอน" ติดง่าย การรักษาส่วนใหญ่เน้นตามอาการคล้ายไข้หวัด ส่วนใหญ่มีไข้ เพียง 5 วัน ไข้ลด เด็กส่วนใหญ่อาการดีขึ้น และเพียงดูแลรักษาตามเกณฑ์ 10-14 วัน ก็หายขาดจากโควิด หากมีอาการก็จะจ่าย "ยาฟาวิพิราเวียร์" สูตรน้ำให้รับประทาน

นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า เกณฑ์การรับเด็กเข้ารักษาการในโรงพยาบาล เน้นกลุ่มอายุต่ำกว่า 1 ปี หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว ส่วนเด็กที่เข้ารับการรักษา HI คือ กลุ่มเด็กไม่มีอาการ ต้องไม่มีไข้สูง ไม่มีโรคประจำตัว เด็กไม่ซึม ทานอาหารได้ และต้องมีพ่อแม่ดูแลแบบใกล้ชิด เมื่อเข้าระบบ HI โรงพยาบาลจะมีการแชทผ่านไลน์สอบถามอาการ และวิดีโอคอล รวมถึงให้พ่อแม่ถ่ายวิดีโออาการของลูกให้แพทย์ดูวันละ 1 ครั้ง พร้อมมีการวัดไข้ วัดระดับออกซิเจนในเลือดจากปลายนิ้ว โดยพยาบาลที่ติดตามอาการเด็ก 1 คนรับผิดชอบ 30 เคส ทั้งนี้ จากการรักษาเด็กผ่านมากว่า 1,000 คน พบมีอาการรุนแรง 1-2% เท่านั้น
 

 

นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า เฉพาะที่สถาบันเด็ก สัดส่วนผู้ป่วยเด็กในเดือนกุมภาพันธ์ครึ่งเดือน เพิ่มขึ้น 30% ตอนนี้มีเด็กป่วยนอนโรงพยาบาล 150 คน จากเดิมเดือนมกราคมประมาณ 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่ของการนอนโรงพยาบาลเป็นแบบครอบครัว มีผู้ปกครองมานอนดูแลอาการเด็กด้วย ทำให้สถาบันเด็กขณะนี้ มีผู้ป่วยครองเตียง 76 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ปกครอง 20 คน และมีอาการป่วยติดเชื้อโควิด ซึ่งทางสถาบันได้มีการประสานกับโรงพยาบาลราชวิถี ดูแลผู้ป่วยกลุ่มผู้ใหญ่เหล่านี้ด้วยเช่นกัน เพราะเข้าใจว่าการรักษาพยาบาลเด็กเล็ก จำเป็นต้องมีผู้ปกครองใกล้ชิด มีผลต่อการรักษา และการดูแลช่วยให้ทางรับประทานอาหารรับประทานยาได้ง่ายมากขึ้น หายเร็วกว่าปกติ 

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ระบุว่า การติดเชื้อในกลุ่มเด็ก 0.9 ปี เริ่มพบมากขึ้นเรื่อย ๆ และคนทำงาน พบปะคนก็มีโอกาสติดเชื้อสูง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่ต้องเตือนภัยระดับ 4 เนื่องจากการติดเชื้อตอนนี้เราแบ่งสีเป็นส้ม และแดง โดยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 13-19 ก.พ.65) พบว่า ติดเชื้อกระจายทั่วประเทศแล้ว เป็นพื้นที่สีแดงและสีส้ม โดยสีแดงมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 ต่อประชากรแสนคน ส่วนสีส้มประมาณ 10-99 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งกลุ่มอายุที่ติดเชื้อพบว่า เพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม แต่มากสุดคือ วัยทำงาน และวัยเด็ก  ดังนั้น การทำงาน การทานข้าวด้วยกัน การมีกิจกรรมร่วมกัน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนอาการปอดอักเสบในกลุ่มวัยต่าง ๆ นั้น กลุ่มเด็กแม้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ป่วยหนักไม่เพิ่มมาก ถ้าเทียบกับอายุ 60 ปีขึ้นไปอาการจะมากขึ้น ส่วนวัยทำงานถ้าอายุ 50 กว่าปี ที่มีโรคประจำตัวก็จะทำให้เพิ่มขึ้นได้ 

 

 

สำหรับ "อาการโอไมครอนในเด็ก" พบอาการหลัก ๆ ที่ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ดังนี้

  • อุณหภูมิสูง
  • การไอต่อเนื่องครั้งใหม่ หมายถึง การไอมากเกิน 1 ชั่วโมง หรือไอ 3 ครั้งขึ้นไปใน 24 ชั่วโมง
  • สูญเสียหรือเปลี่ยนประสาทสัมผัสในการรับกลิ่นหรือรส
  • เมื่อยล้า
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • ปวดหัว
  • เจ็บคอ
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ผื่นขึ้น