โควิด-19

ไทย "เด็กเล็ก" ติดโควิดทะลุแสน ดับเกือบ 30 เหตุพ่อแม่ไม่ประเมินความเสี่ยง

ไทย "เด็กเล็ก" ติดโควิดทะลุแสน ดับเกือบ 30 เหตุพ่อแม่ไม่ประเมินความเสี่ยง

24 ก.พ. 2565

สธ.เผยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา "เด็กเล็ก" ต่ำกว่า 5 ขวบติดเชื้อ "โควิด-19" แล้วกว่า 6,000 ราย สะสม 107,059 ราย สาเหตุจากติดเชื้อในครอบครัว แนะผู้ปกครองจับตาอาการอย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565 นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย รายงานสถานการณ์ "เด็กเล็ก" วัยติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า การติดเชื้อในวันนี้ค่อนข้างสูง แต่ถ้าพิจารณาในตัวเลขของเด็กปฐมวัย แรกเกิดถึง 5 ขวบ ในช่วงที่ผ่านมาก็มีการติดเชื้อสูงตามกลุ่มวัยอื่นๆ เช่นกัน โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีการติดเชื้อสูงถึง 6,000 กว่าราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับช่วงวัยอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

 

 

หากดูการติดเชื้อในรอบล่าสุดสายพันธุ์ "โอไมครอน" ตั้งแต่เดือนมกราคม จะพบว่าเด็กกลุ่มนี้ติดเชื้อเพียงแค่สัปดาห์ละพันกว่าราย จากนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 2-3 พันราย แต่เมื่อดูย้อนหลังตั้งแต่มีการระบาดระลอกที่ 3 เดือนเมษายน ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน

 

ไทยมีผู้ป่วยสะสมในเด็กกลุ่มนี้แล้ว 107,059 ราย หรือคิดเป็น 5% ของการติดเชื้อทั้งหมด และมีการเสียชีวิต 29 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เด็กมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ขณะที่สาเหตุการติดเชื้อของ "เด็กเล็ก" มาจากการติดเชื้อในครอบครัว อีกทั้งไม่มีวัคซีน

กลุ่ม "เด็กเล็ก" น้อยกว่า 2 ปี โดยเฉพาะ 0-1 ปี เป็นกลุ่มที่ติดเชื้อง่ายกว่ากลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากเด็กไม่สามารถปกป้องตัวเองได้อีกทั้งยังไม่มีวัคซีนสำหรับเด็กเล็กมาก ๆ ด้วย

 

 

โดยสาเหตุของการติดเชื้อโควิด-19 ใน "เด็กเล็ก" ส่วนใหญ่ คือ

  • มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในครอบครัว
  • ด้วยธรรมชาติของเด็กวัยนี้ที่ไม่สามารถป้องกันโรคด้วยตัวเองได้ดีพอ ส่งผลให้เป็นสาเหตุของการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

 ผลสำรวจพบคนในครอบครัวไม่ประเมินความเสี่ยงก่อนเข้าบ้านสาเหตุ "เด็กเล็ก" ติดเชื้อ

 

ผลสำรวจอนามัยโพลในช่วงการระบาดที่ผ่านมาเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ของคนในครอบครัวที่มาจากนอกบ้าน พบว่า ไม่ได้มีการประเมินความเสี่ยงถึงร้อยละ 72 แต่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคเมื่ออยู่ที่บ้าน พบว่า พฤติกรรมที่ทำได้ดี เกือบร้อยละ 50 คือ การใช้อุปกรณ์ส่วนตัวแยกกับผู้อื่น รวมถึงการทำความสะอาดอุปกรณ์ที่จับร่วมกัน ร้อยละ 45 และพฤติกรรมการไม่กินอาหารร่วมกัน ร้อยละ 42

 

กรมอนามัย กล่าวว่า อาการ "เด็กเล็ก" ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นไข้ต่ำ มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลียเหมือนหวัด บางรายอาจมีผื่น เบื่ออาหารหรือท้องเสีย หากมีอาการหนัก ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่สปกติ ใช้แรงในการหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94 % ซึมลง ไม่ดูดนมและไม่กินอาหาร ควรติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อนำเด็กเข้ารพ.

 

ทั้งนี้ เด็กเล็กต่ำกว่า 1 ขวบให้สังเกตที่การกิน ดื่มนม ส่วนเกิน 1 ขวบให้สังเกตุที่การเล่น ถ้าพฤติกรรมดังกล่าวต่ำกว่า 50-60 % ควรนำพบแพทย์ กรณีเด็กติดเชื้อแยกกักดูแลที่บ้าน สิ่งสำคัญคือการเว้นระยะห่างโดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

 

เด็กอายุเกิน 2 ปีแนะนำให้เด็กใส่หน้ากากอนามัย และอย่าเปิดแอร์นอน ควรเปิดโล่ง และแยกของใช้ส่วนตัว หากมีไข้ให้พยายามเช็ดตัวเป็นระยะมากกว่ากินยาพารา ส่วนใหญ่ 1-2 วันไข้ลด และพยายามทำกิจกรรมเล่นกับลูก

 

กรณีเด็กเล็กต่ำกวา 5 ปีติดเชื้อที่เข้ารักษาในฮอลพิเทลหรือ CI จะให้ผู้ปกครองเข้าไปดูแลด้วย กรณีพ่อแม่ติดเด็กไม่ติดจะให้ญาตินำเด็กไปดูแล หากไม่มีญาติให้ประสานบ้านพักเด็กช่วยดูแลเล็ก