"โอไมครอนกี่วันแสดงอาการ" เช็คสัญญาณเตือนควรระวัง ก่อนเป็นต้นตอแพร่เชื้อ
"โอไมครอนกี่วันแสดงอาการ" ด้วยคุณสมบัติ แพร่เร็ว-ระยะฟักตัวสั้น เช็คสัญญาณเตือนที่ควรระวัง ก่อนเป็นต้นตอแพร่เชื้อ
"โอไมครอนกี่วันแสดงอาการ" เป็นคำถามที่พบบ่อย หลังการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" ที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วอยู่ในขณะนี้ การรู้อาการของโควิดสายพันธุ์นี้ พร้อมการรับมืออย่างถูกต้อง จึงช่วยป้องกันการติดเชื้อ และลดการเกิด "คลัสเตอร์" ใหม่ได้ นอกจากนั้น โควิดแต่ละสายพันธุ์ มีอาการแตกต่างกัน สำหรับสายพันธุ์ "โอไมครอน" ถือเป็นสายพันธุ์ที่แสดงอาการน้อย ถึงแม้การแพร่กระจายเชื้อเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ผู้ป่วยที่รู้ว่าตนเองติดเชื้อกลับมีน้อย หากไม่มีการตรวจเชิงรุก "คมชัดลึกออนไลน์" จึงได้ รวบรวมข้อควรรู้เกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" โดยมีอาการหลัก ๆ ดังนี้
ไอแห้ง
อาการไอแห้งเป็นอาการที่เกิดจากเชื้อ "โอไมครอน" เข้าไปสะสมอยู่บริเวณลำคอ แล้วร่างกายต้องการขับสิ่งแปลกปลอมออก มักเกิดร่วมกับอาการเจ็บคอ
เจ็บคอ
การเจ็บคอนี้เกิดจากการไอจนคออักเสบ รวมไปถึงอาการคันคอคล้ายฝุ่นลงคอด้วย หากมีอาการไอแห้งร่วมกับอาการเจ็บคอ ควรตรวจโควิดเพื่อความแน่ใจ
เหงื่อออกตอนนอน
การมีเหงื่อออกตอนนอน เป็นอาการใหม่ที่ค้นพบสำหรับผู้ป่วย "โอไมครอน" ซึ่งการมีเหงื่อออกตอนกลางคืนนี้ จะต้องไม่ได้เกิดจากอากาศร้อน หรือโรคประจำตัวต่าง ๆ
ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
การปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจาก "โอไมครอน" มักจะพบว่าปวดบริเวณหลังส่วนล่างมากกว่าส่วนอื่น ๆ นอกจากหลังส่วนล่างแล้วอาจจะปวดบริเวณกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้ด้วย
เหนื่อยง่ายกว่าเดิม
เชื้อไวรัสโควิดทุกสายพันธุ์เมื่อลงปอด จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยง่าย และหายใจลำบาก หาก "โอไมครอน" เริ่มลงปอด ก็จะส่งผลให้เหนื่อยง่ายเช่นกัน หากพบว่าตนเองเหนื่อยง่ายกว่าเดิมมาก ควรรีบตรวจโรคโดยด่วน เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าอาการของโควิด "สายพันธุ์โอไมครอน" จะไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ที่เคยแพร่ระบาดมาก่อน แต่ก็ไม่ควรประมาท และใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง งดการรวมกลุ่ม สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
สัญญาณเตือนของโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน"
โควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วในอากาศ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายมักจะไปกระจุกอยู่บริเวณลำคอ แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นที่ลงปอด สัญญาณเตือนว่าอาจจะป่วยเป็นโอไมครอน มีดังนี้
- เริ่มมีอาการและเจ็บคอ อาการเริ่มต้นของผู้ป่วย "โอไมครอน" คือการไอแห้งร่วมกับเจ็บคอ ส่วนมากมักจะไม่มีไข้ หากเกิดอาการไอแห้งและเจ็บคอ ควรตรวจโควิดด้วยชุดตรวจ ATK เพื่อความอุ่นใจ
- มีอาการป่วยหลังจากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หากเคยอยู่ในสถานที่เดียวกับผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" ควรกักตัวทันที และตรวจร่างกายด้วยชุดตรวจ ATK เพราะมีโอกาสติดเชื้อสูงมาก หากไม่พบเชื้อในครั้งแรก ให้ตรวจซ้ำทุก ๆ 3 วัน จนกว่าจะพ้นระยะกักตัว
การฟักตัวของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน
"โอไมครอน" สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และมีระยะฟักตัวที่สั้นลง ทำให้การแสดงอาการของโควิดโอไมครอนใช้เวลาไม่นาน แต่เนื่องจากอาการของโอไมครอนค่อนข้างสังเกตได้ยาก และส่วนใหญ่ไม่รุนแรง ทำให้คนละเลยอาการป่วย และใช้ชีวิตปกติ จนการแพร่เชื้อกระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งข้อควรรู้เกี่ยวกับระยะฟักตัวและอาการของโอไมครอน มีดังนี้
- โอไมครอนใช้เวลาฟักตัวเพียง 3.25 วัน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น
- สามารถติดเชื้อได้แม้ฉีดวัคซีน mRNA ครบ 3 เข็มแล้ว
- ผลการตรวจ ATK บางครั้งไม่พบเชื้อ ควรตรวจซ้ำทุก 3 วัน หรือหากเป็นกลุ่มเสี่ยงควรตรวจด้วยวิธี RT-PCR
- หากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงควรรีบกักตัวทันที
ซึ่งจากข้อมูลของทั้งอาการ และระยะฟักตัวที่แสดงอาการ "โอไมครอน" สอดคล้องกับที่ นักร้อง นักแสดง "มอส ปฏิภาณ ปฐวีกานต์" ที่โพสต์แชร์ประสบการณ์ตรงของตนเองที่ติดโควิดยกบ้าน ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับช่วงที่โควิดกลับมาระบาดอีกระลอกอย่างนี้ เนื่องจากหลายคนอาจจะอยากทราบว่า โอไมครอนกี่วันแสดงอาการ โดย "มอส" สรุปเรื่องโควิดไว้ว่า ประมาณ 3 - 4 วัน เชื้อถึงเริ่มโผล่ออกมา คนที่เสี่ยงรอดู 3 - 4 วัน ส่วนอาการของแต่ละคน หลัก ๆ คือ ไข้ขึ้นวันเดียว มีไอ นิดหน่อย ค่า CT18 เสียงเปลี่ยน เจ็บคอ แต่ไม่ลงปอด มีระยะเวลาที่มีอาการ 3-5 วัน อาการจะดีขึ้นตามลำดับ แต่ประเด็นสำคัญคือ คนที่อายุมากที่สุด คือคนที่อาการหนักที่สุด
ขณะที่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention--CDC) ของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่แนวปฏิบัติในการให้คนที่ตรวจพบว่า ติดโรคโควิดพบปะกับคนอื่นได้ หลังจากที่มีการกักตัว 5 วัน แต่มีเงื่อนไขอื่น ๆ ตามมา คือ ถ้าเคยติดโรคโควิด-19 และมีอาการ กักตัวอย่างน้อย 5 วัน การคำนวณระยะเวลากักตัว 5 วัน ไม่รวมวันแรกที่มีอาการ โดยให้นับวันแรกที่มีอาการเป็นวันที่ 0 ถ้าไม่มีอาการอีกต่อไปแล้ว หรืออาการดีขึ้นหลังจาก 5 วัน ก็สามารถเลิกกักตัว และออกจากบ้านได้ นอกจากนั้น ควรเลี่ยงการเดินทางจนกว่าจะครบ 10 วันเต็ม หลังจากมีอาการวันแรก ถ้าหากต้องเดินทางในวันที่ 6-10 ให้สวมหน้ากากที่แนบสนิท เมื่อต้องอยู่กับคนอื่นตลอดช่วงที่เดินทาง และหากมีไข้ ให้กักตัวที่บ้านต่อไปจนกว่าจะหายไข้ และควรสวมหน้ากากเมื่ออยู่กับคนอื่นต่อไปอีก 5 วัน