โควิด-19

เปิดหนังสือ สธ.ถึง คปภ. ผู้ป่วย "โควิด" รักษาที่บ้าน เคลมประกันได้หรือไม่

เปิดหนังสือ สธ.ถึง คปภ. ผู้ป่วย "โควิด" รักษาที่บ้าน เคลมประกันได้หรือไม่

25 ก.พ. 2565

เปิดหนังสือ สธ.ส่งถึง คปภ. ตีความชัดเจน ผู้ป่วย "โควิด" ทำ "Home Isolation" ถือเป็นผู้ป่วยใน ประกันต้องจ่าย หากกรมธรรม์ระบุ

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการสาธารณสุข เปิดเผยว่า วันที่ 24 ก.พ. 2565 สธ.ได้ทำหนังสือถือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการปกครองธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยระบุความเห็นว่า ผู้ป่วย "โควิด" ที่เข้าสู่ระบบรักษาตัวเองที่บ้าน (Home Isolation : HI) ให้ถือเป็น “ผู้ป่วยใน” ฉะนั้น ผู้ป่วยที่ทำประกันเอาไว้ว่าจะได้รับค่าบริการเมื่อเป็นผู้ป่วยในก็ควรจะได้รับ เพราะการรักษาใน HI ถือว่าเป็นผู้ป่วยในตามคำนิยามเช่นกัน แต่ที่ผ่านมาเกิดการตีความกันไปว่า ผู้ป่วยในคือผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลเท่านั้น

 

 

สำหรับการทำหนังสือครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก "สมาคมประกันชีวิตไทย" แจ้งแนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันที่ป่วยโควิด ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็น "ผู้ป่วยใน" ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยให้กักตัวที่บ้าน (HI) โดยข้อความดังกล่าว ส่งผลกระทบให้สถานพยาบาลเอกชนปฏิเสธการรับผู้ป่วย และส่งต่อให้โรงพยาบาล
ของรัฐทำการรักษา และอาจส่งผลให้บริษัทประกันฯ หลายแห่งไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือชดใช้รายได้ตามกรมธรรม์ ทั้งนี้ สธ. ได้พิจารณาแนวปฏิบัติดังกล่าวแล้ว จึงมีแนวทาง ดังต่อไปนี้

  1. แนวปฏิบัติดังกล่าวมีข้อความที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่หน่วยงานของ สธ. กำหนด ได้แก่ การกลายสภาพเป็นโรคประจำถิ่น การแยกกักตัว และแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยแยกกักตัวเข้าโรงพยาบาล
  2. ตามแนวทางปฏิบัติที่หน่วยงานของ สธ.ที่กล่าวในข้อ 1 โรคโควิด 19 ถือเป็นโรคติดต่ออันตราย โดยให้แยกกักตัวผู้ป่วยยืนยัน และ HI เป็นแนวทางหลักในการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงระยะที่แพร่เชื้อได้มีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่น และแพทย์เห็นว่าสามารถดูแลรักษาที่บ้านได้โดยมีกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ได้แก่

 

  • ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สถานพยาบาลอื่น ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เฉพาะผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคโควิด ณ ที่พำนักของผู้ป่วยเป็นการชั่วคราว กำหนดให้ “สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย” ถือว่าเป็นผู้ป่วยของสถานพยาบาล ซึ่งรวมถึง HI ได้แก่ บ้านหรือที่พักอาศัยของผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคโควิด
  • กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดให้มีและรายงานหลักฐานเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล และผู้ป่วย และเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2554 กำหนดนิยาม “ผู้ป่วยใน” หมายความว่า ผู้ป่วยซึ่งมารับการรักษาพยาบาล โดยผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ให้การรักษาพยาบาลสั่งให้รับไว้ เพื่อให้อยู่พักรักษา “ในสถานพยาบาล” และได้รับการลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยใน

จากเงื่อนไขดังกล่าว HI จึงเป็นการดูแลผู้ป่วยโควิด ที่อยู่ในช่วงระยะที่แพร่เชื้อ มีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่นใน “สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย” ซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยของสถานพยาบาลโดยเป็น “ผู้ป่วยใน” ที่แพทย์ผู้ให้การรักษาพยาบาลสั่งให้รับไว้เพื่อให้อยู่พักรักษาในสถานพยาบาล ในที่นี้ คือ สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย และมีการลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เป็นไปตามความหมายของ “ผู้ป่วยใน” ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตทั่วไป

 

 

ทั้งนี้ ในวันที่ 25 มี.ค. 2565 สธ. จะมีการประชุมร่วมกับ คปภ. ในประเด็นเดียวกันนี้อีกครั้ง

 

 

เปิดหนังสือ สธ.ถึง คปภ. ผู้ป่วย \"โควิด\" รักษาที่บ้าน เคลมประกันได้หรือไม่

 

เปิดหนังสือ สธ.ถึง คปภ. ผู้ป่วย \"โควิด\" รักษาที่บ้าน เคลมประกันได้หรือไม่

 

 

 

ขอบคุณที่มา : The Coverage