เปิดฉากทัศน์ "โอไมครอน" เดือน มี.ค.ทรงตัว แต่ระวัง โจมตีผู้สูงอายุ
สธ.เปิดฉากทัศน์ "โอไมครอน" เดือนมีนาคม ทรงตัว เฝ้าระวังโจมตีผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยปอดอักเสบอาจถึง 1,000 ราย แนะ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
(28 ก.พ.2565) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประเด็นแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด "สายพันธุ์โอไมครอน" ว่า ขณะนี้ "โอไมครอน" ระบาดเป็นสายพันธุ์หลัก แม้ว่าติดเชื้อสูงขึ้นมากขึ้น 10 เท่า แต่อัตราตายน้อยกว่าการระบาดของสายพันธุ์เดลตา เฉลี่ย 14 วัน ติดเชื้อประมาณ 2 หมื่นคน โดยมีผู้ป่วยรักษาอยู่ในระบบ HI/CI ราว 60-70% ขณะที่ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ ยังอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้ แต่แนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป กลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง โรคอ้วน และผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งยังคงต้องเน้นการสื่อสารให้ประชาชนรับวัคซีนทุกเข็ม โดยเฉพาะ "วัคซีนเข็มกระตุ้น" ปัจจุบันอัตราการติดเชื้อของประเทศไทย สอดคล้องกับอัตราการติดเชื้อในต่างประเทศ ถึงแม้ว่าจำนวนจะเพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตยังคงต่ำอยู่
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้แม้จะมีการติดชื้อมากขึ้น แต่ต้องผ่อนคลายมาตรการ เพื่อให้สมดุลในการดำเนินคดีชีวิตและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่า ในเดือนมีนาคมนี้ จะเข้าสู่ระดับระนาบและค่อย ๆ ลดลง เริ่มที่ฉากทัศน์ผู้ป่วยปอดอักเสบ อาการรุนแรง คาดว่าจะขึ้นบ้างเล็กน้อย อาจถึงระดับ 1,000 ราย ซึ่งน้อยกว่าเชื้อเดลตาที่พบถึง 6,000-7,000 ราย ดังนั้น มั่นใจว่าระบบสาธารณสุขดูแลได้ ขณะที่ ฉากทัศน์ผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ คาดว่า หากติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็จะพบสูง 400-500 ราย แต่น้อยกว่าเชื้อเดลตาที่พบมากถึง 1,300 ราย ซึ่ง สธ.พยายามดูแลผู้ป่วยให้มีประสิทธิมากที่สุด เพื่อลดการเสียชีวิต
สำหรับรายงานผู้เสียชีวิต 42 ราย วันนี้ 95% เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 จึงขอให้ผู้สูงอายุให้ฉีดวัคซีนป้องกัน โดยเฉพาะวัคซีนเข็มกระตุ้น และจากข้อมูลกรมควบคุมโรคถึงการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ 666 ราย ตั้งแต่ 1 ม.ค.-18 ก.พ.พบว่า ไม่ได้ฉีดวัคซีน 387 ราย คิดเป็น 58% ฉีดวัคซีน 1 เข็ม เสียชีวิต 66 ราย หากฉีด 2 เข็ม จะช่วยลดการเสียชีวิตลงได้ 6 เท่า และหากฉีดวัคซีน 3 เข็ม จะลดการเสียชีวิตลงได้ 41 เท่า
นพ.เกียรติภูมิ กล่างถึงสถานการณ์เตียงทั่วประเทศว่า ขณะนี้ใช้ไป 59% แม้แต่ในเขตสุขภาพที่ 13 กทม. อัตราครองเตียง 62% ซึ่งเป็นผู้ป่วยไม่มีอาการ จึงมั่นใจได้ว่าศักยภาพเตียงมีเพียงพอ นอกจากนี้ ยังได้สำรองยาฟาวิพิราเวียร์ 16,904,718 เม็ด และองค์การเภสัชกรรมมีความพร้อมผลิตในประเทศ 2 เดือน จำนวน 63.8 ล้านเม็ด จัดซื้ออีก 23.8 รวม
87.6 ล้านเม็ดเพียงพอดูแลผู้ป่วย กรณีที่ระบุว่าขาดแคลนยารักษาจึงไม่เป็นความจริง
ส่วนการปรับเพิ่มบริการตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด แบบผู้ป่วยนอก ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร ยารักษาตามอาการ บริหารการรักษาให้สมดุล เพราะผู้ป่วย 90% อาการน้อย โดยมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาเพียง 5%