โควิด-19

"ยาฟาวิพิราเวียร์" ผู้ป่วย "โควิด" ระดับไหนควรกิน ไม่มีอาการกินได้หรือไม่

"ยาฟาวิพิราเวียร์" ผู้ป่วย "โควิด" ระดับไหนควรกิน ไม่มีอาการกินได้หรือไม่

10 มี.ค. 2565

เช็คความจำเป็น "ยาฟาวิพิราเวียร์" ผู้ติดเชื้อ "โควิด" ที่ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องกิน จริงหรือไม่ มีคำตอบให้

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องกิน "ยาฟาวิพิราเวียร์" ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง 

 

 

กรมการแพทย์ได้มีการปรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หากไม่มีอาการ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องจ่าย ยาฟาวิพิราเวียร์ ให้แก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งไปตามลักษณะของทั่วโลก แต่จะจ่ายให้กับผู้ที่มีอาการปานกลางขึ้นไปตามไกด์ไลน์ใหม่ ในแนวทางการรักษาของกรมการแพทย์ โดยการจ่ายยานั้น ขอให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา และทำความเข้าใจกับคนไข้ ยาคือยา ต่างจากขนม เพราะยาเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วก็มีผลดี ผลข้างเคียง และผลเสียเกิดขึ้นตามมาได้ จึงต้องรับประทานเฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ ประเทศไทยน่าจะมีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์มากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะใช้มากถึงหลายสิบล้านเม็ด แต่ต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียด้วย ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่อยู่ที่ความยาก แต่เมื่อป่วยไข้ ก็ต้องให้ผู้ที่มีความรู้ดูแลรักษา ตามมาตรฐาน

 

อย่างไรก็ตาม ตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จะมีการปรับปรุงเป็นระยะตามข้อมูล และสถานการณ์ ฉบับปรับปรุง วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ได้ระบุไว้ว่า ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไม่มีอาการอื่น ๆ หรือสบายดี (Asymptomatic COVID-19) ให้ดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์โดยไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากสามารถหายได้เอง และอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา

 

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจาก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.dms.go.th/ 
หรือโทร 0-2590-6000

 

 

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

\"ยาฟาวิพิราเวียร์\" ผู้ป่วย \"โควิด\" ระดับไหนควรกิน ไม่มีอาการกินได้หรือไม่