"อาการโอไมครอน" ผู้ป่วยทำ Home Isolation หากเจอแบบนี้ แจ้งหมอด่วน
เช็คเลย "อาการโอไมครอน" สำหรับผู้ป่วยทำ Home Isolation หากเจอแบบนี้ ต้องระวัง รีบแจ้งหมอด่วน แนะสังเกต วันที่ 4-7 หลังมีอาการ
หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ จนเกรงว่า ระบบการแพทย์ และสาธารณสุขของประเทศไทย อาจเข้าสู่ภาวะวิกฤต เนื่องจากผู้ป่วยที่อาการหนักต้องอยู่ใกล้แพทย์ ใกล้พยาบาล อาจไม่มีเตียงรักษารองรับในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงออกแนวทางให้ผู้ป่วยติดเชื้อ กลุ่มที่ไม่มีอาการ สามารถแยกกักตัวเองอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation
- แต่ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อ "โอไมครอน" ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แต่ก็ไม่ควรประมาท สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. มีคำแนะนำว่า "อาการโอไมครอน" แบบไหนที่ต้องเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการเหล่านี้ ต้องรีบแจ้งโดยเร็ว
- มีไข้
- ไอ
- เจ็บหน้าอก
- หายใจไม่เต็มอิ่ม
- หอบเหนื่อย
- อ่อนเพลีย
- กินไม่ได้
- ซึม
- ไม่รู้สึกตัว
- ค่าออกซิเจนปลายนิ้วต่ำกว่า 96 หรือมีค่าลดลง 3% ขึ้นไปเมื่อออกกำลัง
โดยทั่วไปให้สังเกตวันที่ 4-7 หลังมีอาการ เพราะมักเริ่มมีอาการปอดอักเสบ
สำหรับผู้ติดเชื้อ สามารถเช็ควิธีเข้าสู่ ระบบ "Home Isolation" เป็นบริการที่ครอบคลุมดูแลผู้ติดเชื้อ "โควิด19" หากตรวจ ATK แล้วพบว่าผลตรวจเป็นบวก ซึ่งหมายถึงติดเชื้อ สามารถประสานไปยังสายด่วน สปสช. ดังนี้
- โทร. สายด่วน สปสช. 1330 กด 14
- กรอกข้อมูลที่ คลิก
- เข้าทางไลน์ สปสช.โดยเพิ่มเพื่อน @nhso
- เลือกเมนูบริการเกี่ยวกับโควิด-19
- เลือกลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation)
ภายใน 6 ชั่วโมงจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อประเมินอาการเบื้องต้น (หากยังไม่ได้รับการติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมง ขอให้โทร.แจ้งที่สายด่วน สปสช. 1330 อีกครั้ง ทางเจ้าหน้าที่จะติดตามให้)
เมื่อเข้าสู่ระบบแล้วโรงพยาบาลจะทำการ แจกเครื่องวัดไข้ วัดออกซิเจนในเลือด ยาฟ้าทะลายโจร ส่งอาหาร 3 มื้อ วิดีโอคอล หรือโทร.ติดต่อ เพื่อติดตามอาการ วันละ 2 ครั้ง และส่งต่อโรงพยาบาลเมื่อมีอาการเปลี่ยนแปลงระหว่างรอเตียง พร้อมจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อประคับประคองอาการระหว่างรอ
แนวทางการปฏิบัติตัวขณะอยู่ระบบใน "Home Isolation"
- ห้ามออกจากที่พักโดยเด็ดขาด
- ห้ามเข้าใกล้คนในครอบครัว และทุกคน ต้องเว้นระยะห่างทุกคน 2 เมตร
- แยกห้องพัก แยกของใช้ส่วนตัวห้ามใช้ร่วมกับผู้อื่น หากแยกไม่ได้ควรแยกให้ห่างจากผู้อื่นมากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
- ห้ามรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
- สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาแม้ว่าจะอยู่ตนเดียว หรือหากไม่ได้อยู่คนเดียว
- ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์เจล ทุกครั้งที่ต้องสัมผัสกับของใช้ต่าง ๆ
- แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่ หรือผงซักฟอก ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่นและแยกขยะ