โควิด-19

จ่อวิกฤต โควิด "โอไมครอน" ติดเชื้อพุ่งกลาง เม.ย. ผู้ป่วยอาการหนักสูงสุด พ.ค.

จ่อวิกฤต โควิด "โอไมครอน" ติดเชื้อพุ่งกลาง เม.ย. ผู้ป่วยอาการหนักสูงสุด พ.ค.

08 มี.ค. 2565

จ่อวิกฤต สธ.ระบุ โควิด "โอไมครอน" ติดเชื้อพุ่งกลาง เม.ย. ผู้ป่วยอาการหนักสูงสุด ต้น พ.ค. ระลอกนี้ชัด ติดเชื้อในคนวัยทำงาน เด็กติดเชื้อเพิ่ม แต่ความเสี่ยงอยู่ที่คนสูงอายุ

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า การเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 3 มีนาคม 2565 พบว่า ขณะนี้เป็นการแพร่ระบาดของเชื้อ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" เกือบทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ย 14 วัน อยู่ที่ 21,966 ราย

 

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่กำลังเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย แม้เชื้อ "โอไมครอน" ก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคน้อยกว่าเชื้อ "เดลตา" แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น จึงทำให้จำนวนผู้ที่ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยอาการที่รุนแรง เช่น ปอดอักเสบ เพิ่มขึ้นตามด้วย ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบค่อนข้างสูง ประมาณ 1.5 เท่า ส่วนผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจก็เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากเดิมที่อยู่ในโรงพยาบาล 184 ราย เมื่อวันที่ 3 มีนาคม เพิ่มขึ้นเป็น 337 ราย เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตก็ขยับเพิ่มขึ้น แต่อัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตยังน้อยกว่าเชื้อเดลตา 

 

ทั้งนี้ ยังมีผู้สูงอายุ-กลุ่มเสี่ยง ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้สถานการณ์ของผู้เสียชีวิตยังเพิ่มอยู่ สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากเส้นสถานการณ์จริงกำลังขยับสูงขึ้น ในฉากทัศน์ มีโอกาสขึ้นไปเป็นฉากทัศน์ที่สูงสุดได้ ขอให้ช่วยปฏิบัติตามมาตรการ รวมทั้ง ฉีดวัคซีนป้องกันอาการรุนแรง คาดว่า จุดสูงสุดของการระบาด ที่ทำให้เกิดผู้ป่วยอาการรุนแรงจะอยู่ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้

 

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า ดูตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ พบว่า อยู่ในระดับความเสี่ยงที่จะพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง เส้นล่างสุดหรือ "เส้นสีเขียว" จะไม่เป็นจริงแล้วในเวลานี้ หากดูจากการเพิ่มของผู้ติดเชื้อในไทย ซึ่งมีโอกาสเป็นเส้นของ "สีเหลือง" และ "สีแดง" ถ้าเป็นเส้นสีเหลืองจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มน่าจะอยู่ประมาณ 50,000 กว่าราย ในช่วงหลังสงกรานต์ ประมาณวันที่ 19 เมษายน 2565 แต่หากไม่สามารถคงมาตรการที่เข้มงวดได้ ก็อาจจะมีโอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50,000 รายต่อวัน แต่เชื่อว่า ถ้าเราสามารถจัดการสถานการณ์ได้ดีกว่านี้ ก่อนถึงสงกรานต์ เราจะเห็นจุดสูงสุดของการระบาดก่อนหน้านั้นได้

นพ.โสภณ กล่าวว่า การติดเชื้อในกลุ่มที่มีสัดส่วนสูงมากในขณะนี้ คือ วัยทำงาน ช่วงอายุ 20-29 ปี คิดเป็นอัตราป่วยต่อ 100,000 ประชากร ประมาณ 1,370 ราย , รองลงมาคือ ช่วงอายุ 30-39 ปี การติดเชื้อในเด็กสูงขึ้น หากเปรียบเทียบกับระลอกก่อนหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ในเด็กในช่วง 0-2 ปี ติดเชื้อร้อยละ 2.4 , วัย 3-4 ปี ติดเชื้อร้อยละ 1.8 , วัย 5-11 ปี ติดเชื้อร้อยละ 7.6  และวัย 12-17 ปีติดเชื้อร้อยละ 6.6 ซึ่งสูงกว่าการระบาดในรอบที่แล้ว แต่กลุ่มอายุ 5-11 ปีนี้ สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ ก็จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและลดการแพร่เชื้อในครอบครัวได้

 

 

"กลุ่มที่มาแรงคือ ช่วงอายุ 10-19 ปี และ 0-9 ปี ซึ่งเป็นเด็กวัยเรียน แต่การติดเชื้อมากในกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลให้ป่วยหนักและเสียชีวิต แต่เมื่อดูอัตราป่วยตาย พบว่า เมื่อเกิดระบาด ทำให้ผู้สูงอายุติดเชื้อเพิ่มขึ้น"

 

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ ผู้สูงอายุเอง มีอัตราการติดเชื้อน้อยกว่าคนหนุ่มสาว แต่มีอัตราการตายสูงกว่า โดยกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป หากติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 3 , ถ้าอายุ 60-69 ปี มีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 0.62 ส่วนอายุ 50-59 ปี มีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 0.21 ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะเริ่มมีโรคประจำตัวแล้ว เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลละเอียดขึ้น พบว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในช่วงวันที่ 1 มกราคม -  28 กุมภาพันธ์ เสียชีวิตแล้วกว่า 928 ราย  ในจำนวนนี้ไม่มีประวัติการรับวัคซีน จำนวน 557 ราย คิดเป็นร้อยละ 60 , รับวัคซีน 1 เข็ม จำนวน 77 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 , รับวัคซีน 2 เข็ม จำนวน 271 ราย คิดเป็นร้อยละ 29 และรับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป จำนวน 23 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 เมื่อเทียบข้อมูลของผู้สูงอายุ คนที่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีน พบว่า มีผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนประมาณ 2.17 ล้านราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 557 ราย คิดเป็นอัตราเสียชีวิตต่อล้านคนเท่ากับ 257 ราย , ผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีน 1 เข็ม มีประมาณเกือบ 600,000 ราย เสียชีวิตไป 77 ราย คิดเป็นอัตรา 133 รายต่อล้านคน , ผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม มีประมาณ 6.25 ล้านราย เสียชีวิตไป 271 ราย คิดเป็นอัตรา 43 รายต่อล้านคน ซึ่งเป็นอัตราเสียชีวิตที่ลดลง 6 เท่า แต่ถ้าผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีน 3 เข็ม ในขณะนี้มีประมาณเกือบ 3.70 ล้านราย เสียชีวิตไป 23 ราย คิดเป็นอัตรา 6 รายต่อล้านคน เป็นอัตราเสียชีวิตที่ลดลง 41 เท่า ดังนั้น  หากได้รับเข็ม 2 ครบแล้วเกิน 3 เดือน ให้ไปฉีดบูสเตอร์ โดส หรือวัคซีนเข็ม 3 เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

 

 

นพ.โสภณ ย้ำว่า หากจะช่วยกันดูแลผู้ใหญ่ในบ้าน การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และพาผู้สูงอายุมารับวัคซีนก่อนช่วงสงกรานต์ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งโดยปกติผู้สูงอายุที่อยู่ต่างจังหวัด จะมีลูกหลานไปเยี่ยมช่วงสงกรานต์ เมื่อปีที่แล้ว มีหลายครอบครัวที่ต้องสูญเสียผู้สูงอายุ จากการที่ลูกหลานไปเยี่ยม พร้อมกับนำเชื้อโควิด-19 ไปด้วย เหตุการณ์แบบนี้ เราไม่อยากให้เกิดขึ้นในปีนี้ ผู้สูงอายุต้องได้รับวัคซีนก่อนสงกรานต์ ลูกหลานไปเยี่ยมได้อย่างสบายใจ และลูกหลานเองก็ต้องรับวัคซีนด้วย และตรวจดูว่าไม่มีอาการ หรือพบเชื้อ