โควิด-19

เทียบชัด ๆ อาการผิดปกติแบบไหนเป็นภาวะ "MIS-C" หรือ ภาวะ "Long COVID"

เทียบชัด ๆ อาการผิดปกติแบบไหนเป็นภาวะ "MIS-C" หรือ ภาวะ "Long COVID"

08 มี.ค. 2565

เปรียบเทียบอาการชัด ๆ พบความผิดปกติในร่างกายของเด็กหลังติดโควิด แบบไหนเป็นภาวะ "MIS-C" หรือแบบไหนเป็นภาวะ "Long COVID"

เกาะติดสถานการณ์การระบาดของโควิด "โอไมครอน" ที่กำลังส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดของไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากคนในครอบครัว โรงเรียน ได้สูงมาก เนื่องจากเด็กเหล่านี้ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สิ่งหนึ่งที่น่ากังวลไม่แพ้การติดเชื้อ คืออาการหลังจากที่รักษาโควิดหายแล้ว เพราะในเด็กบางรายเกิดภาวะคงค้างหลังติดเชื้อ หรือ ภาวะ "มิสซี" หรือ "MIS-C" รวมไปถึงภาวะ "ลองโควิด" หรือ "Long COVID" วันนี้ "คมชัดลึกออนไลน์" รวบรวมอาการของภาวะคงค้างหลังติดโควิด-19 ในเด็กมาให้ผู้ปกครองได้เช็ค และเทียบอาการชัด ๆ เพื่อให้ทันต่อการรักษาหากเด็ก ๆ มีอาการเหล่านี้ 

 

เทียบชัด ๆ อาการผิดปกติแบบไหนเป็นภาวะ \"MIS-C\" หรือ ภาวะ \"Long COVID\"
 

ภาวะมิสซี "MIS-C" หรือ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children คือกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรง สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กหลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 เริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรคจนถึงหลังติดเชื้อ 2–6 สัปดาห์ สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้มากเกินไป

อาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะ "MIS-C" ได้แก่

  • มีไข้สูง เกิน 38 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชั่วโมง
  • ตาแดง 
  •  ริมฝีปากแห้ง แดง ลิ้นแดงเป็นตุ่ม
  • ผื่นขึ้นตามตัว
  • มีอาการช็อค ความดันต่ำ
  • ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย
  • หายใจหอบ
  • ปวดศีรษะ ซึม

 

ภาวะ "MIS-C" อาจก่อให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ทำให้เกิดอาการผิดปกติในหลายระบบ ได้แก่

  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด  ทำให้มีอาการช็อค ความดันต่ำ หัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ เส้นเลือดหัวใจผิดปกติ
  • ระบบทางเดินหายใจ   ปอดอักเสบ กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 
  • ระบบทางเดินอาหาร   ท้องเสีย ท้องอืด อาเจียน ปวดท้อง เลือดออกทางเดินอาหาร หรือตับอักเสบ
  • ผิวหนัง  ผิวหนังแดง เยื่อบุอักเสบ เป็นผื่น
  • ระบบประสาท มีอาการชัก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ระบบเลือด เกิดการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  • ไต : ไตวายฉับพลัน

อาการ "Long COVID"  หรือ   "ลองโควิด"   คล้ายคลึงกับการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ มึนศีรษะ หอบเหนื่อย หายใจเร็ว และอาจมีบางอาการที่มีความจำเพาะต่อเชื้อไวรัสตัวนี้ เช่น การไม่ได้กลิ่นหรือการไม่ได้รส อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อสามารถมีอาการที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรักษาหายจากโรคแล้วได้ด้วย ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านั้นเรียกว่า ภาวะ  "Long COVID"  หรือ "ลองโควิด"     โดยอาการที่เกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อโควิดตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งเกิดขึ้นได้กับหลายระบบในร่างกาย โดยมีอาการและอาการแสดงในแต่ละระบบที่แตกต่างกันไปดังนี้

  • ระบบทางเดินหายใจ อาการเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่สะดวก
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด อาการใจสั่น แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว
  • ระบบทางเดินอาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย ลดความอยากอาหาร 

 

อาการอื่น ๆ ที่ไม่จำเพาะเจาะจงต่อระบบใด ๆ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ ไม่มีแรง อ่อนเพลีย 

  • ความผิดปกติที่พบได้จากการตรวจเลือดโดยไม่มีอาการ เช่น
  • ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้นผิดปกติ
  • ค่าการกรองและการทำงานของไตลดลง
  • ค่าการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ
  • ความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลลดลงในผู้ป่วยเบาหวาน และค่าระบบการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ

 

 

 

 

 

ที่มาข้อมูล โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล,โรงพยาบาลพระราม9