โควิด-19

"ติดโควิด" Omicron มีอาการแต่รอเตียง เช็ควิธีดูแลตัวเองง่าย ๆ ยังไงให้รอด

"ติดโควิด" Omicron มีอาการแต่รอเตียง เช็ควิธีดูแลตัวเองง่าย ๆ ยังไงให้รอด

09 มี.ค. 2565

หลายคน "ติดโควิด" อยู่ระหว่างรอเตียง แต่มีอาการ มีคำแนะนำในการดูแลตัวเองแบบง่าย ๆ ให้อยู่รอดปลอดภัย อาการน้อยสุด

"ติดโควิด" แล้วมีอาการทำอย่างไรดี ระหว่างรอเตียง หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย สายพันธุ์ "โอไมครอน" Omicron เรียกได้ว่าเข้าสู่จุดวิกฤต ยอดติดเชื้อและผู้ป่วยหนักเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เตียงไม่เพียงพอกับยอดคนติดเชื้อ เพราะฉะนั้น หากป่วยโควิด-19 และต้องกักตัวที่บ้านเพื่อรอเตียง ควรดูแลตัวเองอย่างไร "คมชัดลึกออนไลน์" ได้สรุปข้อมูล วิธีการดูแลตัวเองแบบง่าย ๆ ให้รอดในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้

 

หากมีไข้สูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส

 

  • พักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
  • ดื่มน้ำมาก ๆ แนะนำว่าควรดื่มน้ำเรื่อย ๆ เมื่อดื่มน้ำเพียงพอ เมื่อสังเกตสีของปัสสาวะจะเป็นสีเหลืองอ่อน
  • รับประทานยาพาราเซตามอลทุก 4-6 ชั่วโมง ครั้งละ 1 เม็ด
  • เช็ดตัวบริเวณคอ หรือข้อพับต่าง ๆ เพื่อลดความร้อน
     

หากมีอาการไอ

 

  • หลีกเลี่ยงการนอนราบ ให้นอนตะแคง หรือ นอนหมอนสูง
  • รับประทานยาแก้ไอ หรือยาอมบรรเทาอาการไอ
  • จิบน้ำผึ้งผสมน้ำอุ่น (ห้ามให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือนเด็ดขาด)

 

หากมีอาการหายใจลำบาก หายใจไม่สะดวก

 

  • เปิดหน้าต่าง หรืออยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  • หายใจช้า ๆ ลึก ๆ ทางจมูกและปาก เหมือนกำลังจะเป่าเทียน
  • นั่งตัวตรง ไม่นั่งหลังค่อม ผ่อนคลายบริเวณหัวไหล่
  • เอนตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย โดยใช้มือวางบนหน้าขาทั้งสองข้าง และหายใจลึก ๆ ยาว ๆ จะช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น
  • พยายามอย่าเครียด ตื่นตกใจ
  • เวลานอนให้นอนตะแคง หรือนอนหมอนสูง

 

หากมีอาการท้องเสีย หรืออาเจียน

 

  • ให้งดอาหารประเภทนม โยเกิร์ต ผลไม้สด และอาหารย่อยยาก
  • ชงเกลือแร่ ORS ผสมน้ำต้มสุก น้ำสะอาด สามารถจิบได้เรื่อย ๆ ทั้งวัน (ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตและโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์)
  • ถ้ารับประทานอาหารไม่ได้ ให้รับประทานน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ

 

 

นอกจากนี้แนวทางการปฎิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อที่ต้องทำ

 

 

  • ล้างมือบ่อย ๆ ให้บ่อยมากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อไอ จาม หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งของตัวเอง เพื่อป้องกันเชื้อสะสมและติดภายในบริเวณบ้าน
  • ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนสัมผัสจุดสัมผัสร่วมภายในบ้าน เช่น ลูกบิดประตู ตู้เย็น ก๊อกน้ำ หรือใช้สเปรย์แอลกอฮอล์ฉีดบริเวณจุดสัมผัสร่วมทั้งก่อนและหลังจับ
  • อย่าพบปะผู้คน งดให้ผู้คนมาเยี่ยมที่บ้าน
  • อยู่ในห้อง แยกจากครอบครัว โดยแยกห้องนอน หากแยกห้องนอนไม่ได้ ควรมีแผ่นพลาสติกแบ่งสัดส่วน
  • หากต้องใช้ห้องน้ำร่วมภายในบ้าน เมื่อใช้ห้องน้ำ ผู้ที่ป่วยโควิด-19 ควรปิดฝาโถลงก่อนกดทำความสะอาดทุกครั้ง ควรทำความสะอาดพื้นหลังใช้งานทุกครั้งด้วยน้ำยาฟอกขาว เพื่อฆ่าเชื้อโรค และควรใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้ายของวัน
  • ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แม้จะอยู่ภายในบ้าน
  • หลีกเลี่ยงการพูดคุยกับคนในบ้าน ถ้าเลี่ยงไม่ได้ต้องเว้นระยะห่างประมาณ 2 เมตร
  • ไม่อยู่ใกล้เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
  • หากไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย เมื่อจะไอหรือจามควรใช้ต้นแขนในการปิด
  • แยกของใช้ส่วนตัว จาน ชาม ช้อนแก้ว หรือภาชนะต่าง ๆ ไม่ใช้ปะปนกับคนอื่น
  • ไม่รับประทานอาหารร่วมกับคนอื่น
  • แยกทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนด้วยสบู่หรือผงซักฟอก หรือซักร่วมกับน้ำร้อน
  • ของใช้ที่สัมผัสบ่อย เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ด ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70-90%
  • มีถังขยะติดเชื้อแยกเฉพาะ ให้เก็บรวบรวม มัดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปทิ้งและล้างถังด้วยน้ำยาฟอกขาวเพื่อทำลายเชื้อ

 

 

\"ติดโควิด\" Omicron มีอาการแต่รอเตียง เช็ควิธีดูแลตัวเองง่าย ๆ ยังไงให้รอด

 

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล หนองแขม