โควิด-19

เผยพื้นที่แรกไม่ต้องสวมแมสก์ สธ.จ่อชงยกเลิกรับ "โควิด" เป็นโรคประจำถิ่น

เผยพื้นที่แรกไม่ต้องสวมแมสก์ สธ.จ่อชงยกเลิกรับ "โควิด" เป็นโรคประจำถิ่น

16 มี.ค. 2565

เปิดพื้นที่แรก กระทรวงสาธารณสุข จ่อชง ศบค.ไม่ต้องสวม "หน้ากากอนามัย" รับ "โควิด" เป็นโรคประจำถิ่น-ผ่อนคลายระบบ Test and go

อัปเดตมาตรการผ่อนคลาย "โควิด" (วันที่ 16 มี.ค.2565) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) วันศุกร์ที่ 18 มี.ค. สธ. เตรียมเสนอผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศระบบ Test and go ผู้ที่เดินทางเข้าไทย ไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้าประเทศ แต่ให้ตรวจ RT-PCR 1 ครั้ง ในวันที่เดินทางมาถึงประเทศไทย และให้ตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้ง ในวันที่ 5 ของการเดินทางมาถึงไทย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เสนอปรับลดวงเงินประกันผู้เดินทางจาก 50,000 ดอลลาร์ เหลือ 10,000 ดอลลาร์ โดยตัวเลขดังกล่าวมาจากการคำนวณค่าเฉลี่ยการรักษาพยาบาล แต่ตอนนี้โรค "โควิด" เบาลง จากเดิมที่เราเฉลี่ยค่ารักษา 1 ล้านบาทต่อราย ตอนนี้เหลือ 2 หมื่นบาทต่อราย

 

 

เผยพื้นที่แรกไม่ต้องสวมแมสก์ สธ.จ่อชงยกเลิกรับ \"โควิด\" เป็นโรคประจำถิ่น

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จะมีการรายงานต่อ ศบค. เรื่องแผนปรับโควิด-19 เข้าสู่ "โรคประจำถิ่น" (Endemic Approach) ภายใน 4 เดือน ภายใต้เงื่อนไขไวรัสไม่กลายพันธุ์รุนแรง โดยต้องปรับเข้าสู่การใช้กฎหมายปกติจาก พ.ร.บ.ฉุกเฉิน เป็น พ.ร.บ.โรคติดต่อในภาวะฉุกเฉิน ทุกอย่างต้องทำอย่างมีสเต็ป ค่อย ๆ ทำ ไม่ใช่ว่า 4 เดือนแล้วจะเปิดหน้ากาก มีกิจกรรมสังคมเต็มที่ แต่ สธ. ตั้งเป้าหมายว่า "สวนสาธารณะ" จะเป็นแห่งแรกที่ไม่ต้องสวมหน้ากากเพื่อให้ชีวิตเป็นปกติ แต่ยังสนับสนุนให้คนสวมหน้ากาก โดยเฉพาะคนป่วย แต่คนทั่วไปจะผ่อนคลายได้บ้าง ส่วนกิจกรรมรวมกลุ่มอาจผ่อนคลายมากขึ้นช่น กีฬาฟุตบอล คอนเสิร์ต แต่ต้องมีมาตรการป้องกันคลัสเตอร์ใหญ่

 

 

เผยพื้นที่แรกไม่ต้องสวมแมสก์ สธ.จ่อชงยกเลิกรับ \"โควิด\" เป็นโรคประจำถิ่น

"สถานการณ์โควิดขณะนี้เป็นไปตามที่วางฉากทัศน์ไว้ว่า ช่วงกลางเดือน มี.ค. การติดเชื้อจะเริ่มชะลอตัว แต่ไม่ลดลงฮวบ เนื่องจากการเราใช้มาตรการคล้ายการกั้นน้ำ ที่น้ำค่อย ๆ เอ่อล้น และเริ่มลดลง สำหรับสายพันธุ์ "โอไมครอน" ข้อมูลจากนักวิชาการ โรงพยาบาลศิริราช และต่างประเทศระบุว่า อยู่ในช่วงกลาง ๆ และกำลังเข้าขาลง เช่น สหรัฐฯ กำลังเริ่มลดลง เนื่องจากวัคซีนเพิ่ม และเชื้ออ่อนแรง รวมถึงติดเชื้อมากขึ้น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ติดเชื้อมากกว่าไทย ทั้งยอดสะสมและติดเชื้อใหม่รายวันนั้น เมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว ประเทศไทยถือว่าอยู่ในสถานการณ์ค่อนข้างดี"