โควิด-19

กลับลำ เลื่อนประกาศโควิดเป็น "โรคประจำถิ่น" จว.แรก หวั่นคลัสเตอร์สงกรานต์

กลับลำ เลื่อนประกาศโควิดเป็น "โรคประจำถิ่น" จว.แรก หวั่นคลัสเตอร์สงกรานต์

31 มี.ค. 2565

เบรกดังเอี๊ยด จ.สุรินทร์ เลื่อนประกาศโควิดเป็น "โรคประจำถิ่น" จังหวัดแรก 1 เม.ย. เหตุยังไม่เข้าเงื่อนไข-หวั่นคลัสเตอร์สงกรานต์

หลังจากที่ จ.สุรินทร์ ได้มีการประกาศความพร้อม เตรียมเปลี่ยนโควิด-19 เป็น "โรคประจำถิ่น" จังหวัดแรกของประเทศ เริ่ม 1 เมษายน นี้ พร้อมระบุเป้าหมายชัดตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น 

ล่าสุด นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้แถลงผ่านเฟซบุ๊ค สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ เหตุที่จังหวัดยังไม่สามารถเสนอเรื่องไปยังส่วนกลาง กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. เพื่อที่จะเป็นจังหวัดนำร่องให้เป็น "โรคประจำถิ่น" ในวันที่ 1 เมษายน เนื่องจากในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อของ จ.สุรินทร์ ได้มีการนำข้อมูลต่าง ๆ ที่จะนำมาเสริมหลักเกณฑ์ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนด มาป็นข้อมูล เพื่อที่จะนำเสนอไปยังส่วนกลาง โดยเอามาวิเคราะห์กันอย่างละเอียด ถี่ถ้วน ปรากฏว่า มีข้อมูลอยู่ 2 ประเด็น ที่ทางสาธารณสุขแจ้งว่า เป็นข้อมูลที่ยังไม่สามารถที่จะยืนยันได้ชัดเจน คือ ข้อมูลความเป็นผู้ป่วยสีส้ม และสีแดง ของจังหวัด ตามหลักเกณฑ์ต้อง 3% แต่ขณะนี้ตัวเลขอยู่ที่ 8% ซึ่งจากตัวเลขนี้ยังไม่สามารถจำแนกได้อย่างชัดเจนว่า เป็นผู้ป่วยเฉพาะในพื้นที่จังหวัด หรือเป็นผู้ป่วยที่รีเฟอร์จากที่อื่น เข้ามาที่โรงพยาบาล จ.สุรินทร์ด้วย

 

 

กลับลำ เลื่อนประกาศโควิดเป็น \"โรคประจำถิ่น\" จว.แรก หวั่นคลัสเตอร์สงกรานต์

เพราะฉะนั้นตัวเลขนี้ จึงทำให้สถิติของจังหวัดยังเกินกว่าข้อกำหนด ที่จะนำข้อมูลไปประกอบการเป็น "โรคประจำถิ่น" ได้ นอกจากนี้ ยังมีอีกส่วนที่พัวพันกันคือเรื่องของการฉีดวัคซีน เนื่องจาก ยังมีประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ที่ยังไม่ได้วัคซีนเข็มที่ 3 หากได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 จำนวนมากแล้ว ถ้าเกิดติดเชื้อขึ้นมาก็จะไม่เป็นผู้ป่วยสีส้มและสีแดง เพราะฉะนั้นสองตัวเลขนี้ก็จะสัมพันธ์กัน เพื่อความรอบคอบ ทางคณะกรรมการโรคติดต่อ จึงขอให้ชะลอไปอีกระยะนอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในห้วงเวลาของเทศกาลสงกรานต์ ด้วย จึงเห็นสมควรให้ชะลอไป หลังสงกรานต์ เพื่อประเมินผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ด้วย ว่าจะมีการติดเชื้อเพิ่ม หรือเกิดคลัสเตอร์เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อความรอบคอบ คณะกรรมการโรคติดต่อจึงขอเป็นหลังสงกรานต์ จะมีการประเมินอีกครั้ง ถ้ายังมีความพร้อมเหมือนเดิม และไม่มีคลัสเตอร์เกิดขึ้น รวมทั้งจำนวนผู้ป่วยสีส้มและสีแดง สามารถจำแนกได้อย่างชัดเจน ว่าอยู่ในจำนวนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จึงจะมาทำข้อมูลกันอีกครั้ง ก่อนที่จะเสนอส่วนกลางต่อไป 

 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ยังยืนยันว่า ยังมีความมุ่งมั่น ที่จะทำให้ จ.สุรินทร์ ประกาศเป็น "โรคประจำถิ่น" จังหวัดแรกของประเทศเหมือนเดิม

 

 

หลักเกณฑ์การเปลี่ยนโควิด-19 เป็น "โรคประจำถิ่น" 

 

  • อัตราผู้ป่วยครองเตียงผู้ป่วยหนักไม่เกิน 3% ของผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด
  • อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไม่เกินร้อยละ 0.5
  • ประชาชนทั่วไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ไม่น้อยกว่า 70%
  • ประชาชนกลุ่ม 608 ได้รับวัคซีนเข็มแรกไม่น้อยกว่า 80%
  • ทุกหมู่บ้านมีชุดตรวจ ATK ไม่น้อยกว่า 10% ของประชากรในหมู่บ้าน
  • หมู่บ้านมีการปลูกสมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพ 100%
  • อสม.ต่อประชากรในหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 10 ครัวเรือนต่อ 1 คน
  • ประชาชนสวมแมสก์ 100%
  • ดำเนินการ D-M-H-T-T 100 %
  • สถานที่ต้องมีมาตรการ องค์กรและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด Covid Free Setting 100 %