"ปวดหัวแบบไหนเป็นโควิด" เช็คอาการ 7 อย่างนี้ เข้าข่ายแน่ อันตรายแค่ไหน
"ปวดหัวแบบไหนเป็นโควิด" เช็คก่อนมีอาการ 7 อย่างนี้หรือไม่ ปวดแบบไหนเข้าข่ายเสี่ยงติดเชื้อ หรือแค่ปวดหัวทั่วไป พร้อมดูอันตรายแค่ไหนหากรักษาไม่ถูกวิธี
อาการป่วยโควิดปัจจุบันนี้เรียกได้ว่ามีความรุนแรงน้อย และค่อนข้างที่จะมีความใกล้เคียงกับโรคอื่น ๆ หลายโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้หวัด โรคไข้เลือดออก รวมไปถึงอาการไข้โดยทั่วไป แต่อีกหนึ่งอาการที่คนทั่วไปมักจะกังวลว่าหากมีอาการแบบนี้จะมีความเสี่ยงติดโควิด หรือเข้าข่ายเป็น กลุ่มเสี่ยงหรือไม่ นั้นคือ อาการปวดหัว โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้การระบาดของโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" ที่อาจจะทำให้เราสังเกตอาการได้ยากขึ้น วันนี้ "คมชัดลึกออนไลน์" ได้สรุปอาการ "ปวดหัวแบบไหนเป็นโควิด" และอาการปวดหัวแบบไหนไม่ใช่อาการปวดหัวเนื่องจากเสี่ยงโควิด ดังนี้
"ปวดหัวแบบไหนเป็นโควิด" โดยอาการปวดหัวที่เข้าข่ายความเสี่ยงเมื่อเราติดเชื้อโควิด-19 มีดังนี้
- มีอาการปวดหัวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ระดับอาการปวดหัวที่มีความรุนแรง ไปจนถึง ปวดปานกลาง
- ไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด หรือ ปวดซํ้าหลังจากยาแก้ปวดหมดฤทธิ์
- ปวดแบบบีบรัดที่บริเวณขมับ หน้าผาก รอบกระบอกตาทั้ง 2 ข้าง หรือปวดทั่วทั้งศีรษะ ซึ่งอาจจะพบลักษณะการปวดแบบปวดตุ๊บๆ คล้ายกับเส้นเลือดเต้นได้
- อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อโน้มศีรษะไปด้านหน้า การไอ การจาม และการออกแรงจะทำให้อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้น
- อาการปวดสามารถเกิดขึ้นได้นานถึง 2 สัปดาห์
"ปวดหัวแบบไหนเป็นโควิด" เมื่อปวดหัวเนื่องจากติดเชื้อโควิด ควรทำปฏิบัติดังนี้
อาการหัวจากการได้รับเชื้อโควิด หรือจากการได้รับวัคซีนอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ สามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลได้
ในกรณีที่รับประทานยาพาราเซตามอลแล้วยังไม่สามารถควบคุมอาการปวดได้ อาจต้องพิจารณาใช้ยาแก้ปวดบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs หรือ NSAIDs)
สำหรับผู้ที่เป็นไมเกรนและมีอาการปวดไมเกรนกำเริบหลังได้รับวัคซีน แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล ในกรณีที่ปวดศีรษะรุนแรงควรพิจารณาใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs หรือ ยากลุ่ม triptans
หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อหาสาเหตุของอาการปวดศีรษะที่อาจเป็นอันตราย รวมทั้งรักษาอาการปวดศีรษะอย่างเหมาะสม
"ปวดหัวแบบไหนเป็นโควิด" ส่วนอาการปวดศีรษะตามปกติ มักจะมีสาเหตุมาจากอาการต่าง ๆ ดังนี้
ปวดไมเกรน (Migraine)
อาการปวดศีรษะตุบๆ บริเวณข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ มักปวดนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน สู้แสงหรือเสียงไม่ได้ร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการนำก่อนอาการปวดหัว โดยมักเห็นเป็นแสงวูบวาบ หรือมองเห็นภาพไม่ชัด
ปวดชนิดกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension)
อาการปวดศีรษะมีลักษณะเหมือนถูกกด บีบ หรือรัดที่ศีรษะทั้งสองข้าง มักมีอาการเริ่มที่ท้ายทอย ร้าวไปขมับทั้งสองข้าง แล้วจึงปวดร้าวทั้งศีรษะ อาจจะมีอาการกดเจ็บที่หนังศีรษะร่วมด้วย มักมีอาการปวดตั้งแต่ 30 นาทีขึ้นไป โดยมักพบในผู้ที่มีอาการเครียด โกรธ หรือเหนื่อย
ปวดแบบไซนัส (SINUS)
ปวดศีรษะเนื่องจากโพรงจมูกติดเชื้อ มีอาการปวดแบบหน่วงๆ บริเวณหน้าผาก หัวตา โหนกแก้ม และรอบกระบอกตา เนื่องจากโพรงจมูกติดเชื้อและน้ำมูกไหลออกมาไม่ได้ บางรายมีอาการปวดเมื่อก้มศีรษะหรือเปลี่ยนท่า
ขอบคุณข้อมูล : นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท (โรคปวดศีรษะและใบหน้า) ศูนย์สมอง รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล , บริษัท ศิครินทร์ จำกัด