เจออีก ผลวิจัยพบ "ติดเชื้อโควิด" เสี่ยง "ลิ่มเลือดอุดตัน" สูง เพราะสาเหตุใด
เจออีก ผลวิจัยจากสวีเดน พบ "ติดเชื้อโควิด" เสี่ยงภาวะ "ลิ่มเลือดอุดตัน" เพิ่มสูง เป็นเพราะสาเหตุใด หนักกว่าจากฉีดวัคซีน
ที่ผ่านมาเรามักจะได้รับคำเตือน อาจต้องเจอกับภาวะ "ลิ่มเลือดอุดตัน" ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด แต่รายงานการวิจัยจากสวีเดนพบว่า ผู้หายจากการ "ติดเชื้อโควิด" ขั้นรุนแรง และหายจากการติดเชื้อในการระบาดระลอกแรก มีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดร้ายแรงในอีก 6 เดือน
และนักวิจัยกล่าวว่า สิ่งนี้เน้นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส โดยผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะเกิดลิ่มเลือดมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งนักวิจัยพบว่า หลังติดเชื้อโควิด ความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นมีดังนี้
- ลิ่มเลือดในขา หรือ ลิ่มเลือดอุดตัน หลอดเลือดดำลึก (DVT) เป็นระยะเวลานานถึง 3 เดือน
- ลิ่มเลือดในปอดหรือเส้นเลือดอุดตันที่ปอดเป็นระยะเวลานานถึง 6 เดือน
- เลือดออกภายใน เช่น โรคหลอดเลือดสมองเป็นระยะเวลานานถึง 2 เดือน
ทั้งนี้ เมื่อนักวิจัยเปรียบเทียบความเสี่ยงของ "ลิ่มเลือดอุดตัน" หลัง "ติดเชื้อโควิด" กับระดับความเสี่ยงปกติพบว่า ผู้ป่วยโควิด 4 คน ใน 10,000 คน มีอาการ DVT เทียบกับ 1 ใน 10,000 คน ที่ไม่ติดโควิด ผู้ป่วยโควิดราว 17 คนในทุก 10,000 คน มีลิ่มเลือดในปอด เทียบกับน้อยกว่า 1 คนในทุก 10,000 คนที่ไม่ติดโควิด
การศึกษาดังกล่าว ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารแพทย์อังกฤษ (บีเอ็มเจ) ระบุว่า ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดลิ่มเลือดในการระบาดระลอกแรกสูงกว่าระลอกถัดมา อาจเป็นเพราะการรักษาดีขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ และผู้ป่วยสูงอายุเริ่มได้รับการฉีดวัคซีนในการระบาดระลอกที่สอง ซึ่งนักวิจัยต้องการทราบว่า ความเสี่ยงนั้นจะกลับสู่ระดับปกติเมื่อใด จึงติดตามสุขภาพของคนมากกว่า 1 ล้านคน ที่มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก ระหว่างเดือน ก.พ. 2563-พ.ค. 2564 ในสวีเดน และเปรียบเทียบกับคนอายุและเพศเดียวกัน 4 ล้านคนที่ไม่ได้ผลตรวจเป็นบวก
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด ในผู้ป่วยหนักด้วยโควิด-19 รุนแรง จะสูงกว่าปกติ 290 เท่า และสูงกว่าปกติ 7 เท่าหลังติดโควิด-19 ไม่รุนแรง แต่ไม่มีความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกภายในในกรณีติดโควิดรุนแรง แต่ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า โควิดทำให้ลิ่มเลือดก่อตัว แต่มีหลายทฤษฎีว่าทำไมมันเกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลโดยตรงของไวรัสต่อชั้นของเซลล์ที่เรียงตัวกันในหลอดเลือด การตอบสนองต่อการอักเสบที่มากเกินไปต่อไวรัส หรือร่างกายทำให้ลิ่มเลือดก่อตัวในเวลาไม่เหมาะสม
อันน์-มารี ฟอร์ส คอนโนลลี นักวิจัยหลักจากมหาวิทยาลัยอูเมโอ (Umeå) ในสวีเดน กล่าวว่า สำหรับผู้ไม่ได้รับวัคซีน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ควรจะได้รับวัคซีน เพราะความเสี่ยงดังกล่าว สูงกว่าความเสี่ยงจากวัคซีนมาก วัคซีนมีประสิทธิภาพมากในการต้านโควิดขั้นรุนแรง แต่ให้การป้องกันการติดเชื้อน้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งหมายความว่า การติดเชื้อซ้ำ ที่มีอาการมักเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากประเทศต่าง ๆ หาวิธีอยู่ร่วมกับโควิด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีข้อมูลว่าผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด พบอาการที่อาจเกิดจากมี "ลิ่มเลือดอุดตัน" ที่ควรรีบพบแพทย์ คือ
- ปวดหัวรุนแรงและต่อเนื่อง
- มีอาการทางระบบประสาทเฉพาะที่ เช่น ตามัว เห็นภาพซ้อน
- หายใจไม่เต็มอิ่ม เจ็บหน้าอก ปวดหลัง และปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียนต่อเนื่อง
- มีเลือดออกผิดปกติ เช่น มีจ้ำเลือดตามตัว มีตุ่มน้ำที่มีเลือดออกภายใน
- แขน ขา บวมปวด
แต่ผลวิจัยยังยืนยันว่า แม้ความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดเพิ่มขึ้นหลังการฉีดวัคซีน แต่ความเสี่ยงยังน้อยกว่าและยังอยู่ในช่วงเวลาสั้นกว่าที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ
ขอบคุณข้อมูล บีบีซี