โควิด-19

"โอไมครอน" ข้ามสายพันธุ์ ติดซ้ำ 2 ครั้งใน 1 เดือน วัคซีน 4 เข็ม เจอน้อยแต่เจอ

"โอไมครอน" ข้ามสายพันธุ์ ติดซ้ำ 2 ครั้งใน 1 เดือน วัคซีน 4 เข็ม เจอน้อยแต่เจอ

11 เม.ย. 2565

"หมอมนูญ" เปิดสาเหตุ "โอไมครอน" ข้ามสายพันธุ์ ติดซ้ำ 2 ครั้งใน 1 เดือน วัคซีน 4 เข็ม เจอน้อยแค่ 1 ใน 4 หมื่นคน แต่ก็เจอแล้ว

ยังเป็นข้อสงสัย ทำไมฉีดวัคซีนถึง 4 เข็มแล้ว ยังติดโควิดได้อีก แถมติดซ้ำ 2 ครั้งใน 1 เดือน โดยเฉพาะสายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" ล่าสุด "หมอมนูญ" นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความ หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ยกตัวอย่างคนที่ได้รับวัคซีนครบโดสและได้เข็มกระตุ้นแล้ว ยังติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" 2 ครั้งใน 1 เดือน โดยระบุว่า

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผู้ป่วยหญิงอายุ 27 ปี เป็นพยาบาล ปกติแข็งแรงดีไม่มีโรคประจำตัว ไม่มียาประจำ ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และไฟเซอร์ 2 เข็ม เข็มสุดท้ายเดือนมกราคม 2565 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565  มีอาการระคายคอ หลังจากใกล้ชิดกับคนในบ้านที่ติดเชื้อไวรัสโควิด ตรวจ RT-PCR SARS-CoV-2 ให้ผลบวก RdRp/N gene Ct Value 30.59 มีอาการเล็กน้อย หลังจากกักตัวที่บ้าน 10 วัน กลับมาทำงานได้

 

วันที่ 19 มีนาคม 2565 มีอาการเจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก 23 มีนาคม 2565 ตรวจ ATK ให้ผลบวก ยืนยันโดยการตรวจ RT-PCR SARS-CoV-2 ให้ผลบวก RdRp/N gene Ct Value 2.96 เอกซเรย์ปอดปกติ ครั้งนี้ไม่ทราบว่าติดจากใคร อาการไม่มาก ไม่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล หลังกักตัวที่บ้าน 10 วัน หายเป็นปกติ กลับมาทำงานได้ 

"หมอมนูญ" ระบุว่า การฉีดวัคซีน 4 เข็ม ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ผู้ป่วยรายนี้ได้รับวัคซีน 2 เข็มแรกเป็นวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มหลังเป็นวัคซีน mRNA ได้วัคซีนไฟเซอร์เข็มสุดท้าย 1 เดือน ก่อนที่จะติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนครั้งแรก และติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนครั้งที่ 2 อีก 1 เดือนถัดมา ครั้งแรกคาดว่าเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 ครั้งที่ 2 เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 การติดเชื้อสายพันธุ์ BA.1 ปกติจะมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยตัวอื่น ๆได้ดี แต่มีบางคนเกิดภูมิคุ้มกันเฉพาะ BA.1 ภูมิคุ้มกันไม่ข้ามไปป้องกัน BA.2 จึงทำให้เกิดการติดเชื้อครั้งที่ 2 ได้ โอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน 2 ครั้งใน 1 เดือนน้อยมาก เพียง 1 ใน 4 หมื่นคนเท่านั้น