"ซากเชื้อโควิด" คืออะไร ตรวจ atk ขึ้น 2 ขีด? มีสิทธิแพร่เชื้ออีกหรือไม่
ไขข้อข้องใจ "ซากเชื้อโควิด" คืออะไร ตรวจ atk ยังขึ้น 2 ขีดอยู่หรือเปล่า แล้วมีสิทธิแพร่เชื้อ ทำติดโควิดซ้ำอีกหรือไม่
จากกรณีที่มีการรายงานว่า พบผู้ติดโควิด-19 หลังพ้นช่วงเข้าพักที่สถานที่กักกันของรัฐบาลจนครบ 14 วันไปแล้ว และต่อมามีการตรวจพบเชื้ออีกครั้งหลังกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ โดยกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การพบเชื้อในกรณีดังกล่าว เป็น "ซากเชื้อโควิด" ที่ไม่มีทางไปแพร่เชื้อต่อได้ ทำให้เริ่มมีคำถามว่า "ซากเชื้อโควิด" คืออะไร ไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้วจริงหรือไม่ หากตรวจ ATK ยังขึ้น 2 ขีดอีกหรือเปล่า
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อโควิดซ้ำ ซึ่งข้อมูลจาก สำนักงานหลักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ระบุว่า ต้องเเน่ใจว่า หายจากการติดเชื้อครั้งเเรก โดยทั่วไป การติดเชื้อซ้ำมักเกิดหลังจากการติดเชื้อครั้งเเรกเกิน 3 เดือน เเต่บางกรณี มีผู้ป่วยบางราย มีอาการป่วยนานกว่าคนทั่วไป เเละเมื่อตรวจเชื้ออาจพบเชื้อหลงเหลือ ทำให้ผลตรวจเป็นบวกนานหลายสัปดาห์ ซึ่งทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นการติดเชื้อซ้ำ
หากสงสัยว่าติดเชื้อซ้ำ ไม่ต้องตกใจ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนเเรง พบได้เป็นปกติ มีรายงานเป็นระยะทั่วโลก
การ "ตรวจหาเชื้อ" คืออะไร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กำธร มาลาธรรม ที่ปรึกษาคณะกรรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า การวินิจฉัยโรคติดเชื้อทุกชนิด ที่แน่นอนที่สุด คือการตรวจพบตัวเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคนั้น เชื้อโรคต่างชนิดกัน จะมีวิธีการตรวจหาเชื้อแตกต่างกันไป ถ้าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น การติดเชื้อในเลือด ฝี หนอง ปอดอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ทางการแพทย์จะใช้วิธีเพาะเชื้อ เป็นวิธีที่สะดวกที่สุด แต่กรณีการติดเชื้อไวรัสเกือบทุกชนิด รวมทั้งโควิด-19 การเพาะเชื้อทําได้ยาก และต้องเป็นห้องปฏิบัติการพิเศษที่มีระบบความปลอดภัยที่เข้มงวดมาก จึงไม่สะดวกในการใช้ และมีเฉพาะในสถาบันการแพทย์ใหญ่ ๆ ที่ทําเพื่อการวิจัยเท่านั้น
เทคนิคการตรวจหาเชื้อที่นิยมใช้ มีสองวิธีหลัก ๆ คือ การตรวจหาส่วนประกอบของเชื้อ เช่น การตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยวิธีการขยายจํานวนเฉพาะส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อ ที่เรียกว่า PCR (ชื่อเต็มคือ polymerase chain reaction และการตรวจหาโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของไวรัสที่ทางการแพทย์เรียกว่าแอนติเจน (antigen) ทั้งสองวิธีนี้ใช้สิ่งส่งตรวจที่ป้ายจากหลังโพรงจมูก (แยงจมูก) เหมือนกัน แต่การตรวจหาสารพันธุกรรม จะมีความแม่นยําในการวินิจฉัยมากกว่า และเป็นวิธีการมาตรฐานในการวินิจฉัยโควิด-19 เมื่อผู้ติดเชื้อมีอาการ หรือมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันถ้าต้องการทราบว่าติดเชื้อมา หรือไม่แพทย์ก็มักจะแนะนําให้รับการตรวจหาสารพันธุกรรมนี้ ถ้าตรวจพบ ก็จะให้ผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลา 10-14 วันเป็นอย่างน้อย แต่ถ้ามีอาการหนัก ก็อาจจะต้องอยู่นานกว่านั้น
เราทราบได้อย่างไรว่า หายจากโรคแล้ว
การบอกว่าผู้ป่วยหายจากโรคติดเชื้อโดยทั่วไป อาจบอกได้จากการประเมินอาการ และบางกรณีก็อาจจะตรวจหาเชื้อซ้ำว่าเชื้อหมดจากร่างกายของผู้ป่วยหรือยัง แต่สําหรับโควิด-19 การตรวจหาเชื้อซ้ำ จะทําให้สับสนมาก เพราะสารพันธุกรรมของเชื้อ SARSCoV-2 (ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรค) จะคงอยู่ในร่างกายของผู้ป่วยเป็นเวลานานมาก บางรายอาจจะนานถึง 3 เดือน มีการทดลองเอาสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยไปตรวจหาสารพันธุกรรม และเพาะเชื้อไปพร้อมกัน
- ถ้าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากจะตรวจพบทั้งสารพันธุกรรม และยังเพาะเชื้อได้ตัวไวรัสอยู่หลังจากมีอาการไม่เกิน 7 วัน
- ถ้าเป็นผู้ป่วยอาการหนัก หรือมีภูมิคุ้มกันต่ํา จากการได้ยากดภูมิ หรือจากโรคเดิม ก็จะเพาะเชื้อได้นานประมาณ 3 สัปดาห์ เมื่อพ้นจากระยะเวลาดังกล่าวแล้ว (7 วัน)
- สําหรับผู้ป่วยทั่วไป 21 วัน สําหรับผู้ป่วยอาการหนักหรือภูมิคุ้มกันต่ำ) เกือบทั้งหมดจะเพาะเชื้อไม่ขึ้นคือเชื้อไม่สามารถเจริญเติบโตและแบ่งตัวได้อีกต่อไปทั้ง ๆ ที่ยังตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้ออยู่บางคนจึงเรียกเหตุการณ์นี้ว่า พบ "ซากเชื้อโควิด"
"ซากเชื้อโควิด" ก่อโรคได้ และเป็นอันตรายหรือไม่
การศึกษาในไต้หวัน พบว่า ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ก่อนที่จะมีอาการประมาณ 2 วัน ไปจนถึง 6 วัน นับจากวันที่มีอาการวันแรก จะติดเชื้อจากผู้ป่วยได้ แต่ถ้ามีการสัมผัสหลังจากนั้น จะไม่มีใครติดเชื้อเลย การติดตามผู้ป่วยหลายร้อยคนที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ในประเทศเกาหลีใต้ ก็ไม่พบว่ามีใครติดเชื้อจากผู้ที่หายจากโรคแล้วเหล่านั้นเลย แม้ว่าจะยังตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อในสารคัดหลั่งของผู้ที่หายจากโรคแล้ว
ผู้ป่วยได้รับการรักษาในโรงพยาบาลจนครบกําหนดระยะเวลาแล้ว จึงถือว่า พ้นระยะแพร่เชื้อสามารถใช้ชีวิตทางสังคมได้อย่างปกติ แม้ว่าบางคนอาจจะมีอาการหลงเหลือเล็กน้อย แต่อาการนั้นไม่ใช่อาการที่แสดงว่ายังมีเชื้ออยู่ เป็นแต่เพียงการอักเสบที่ยังตกค้างอยู่ และจะหายไปเองในที่สุด
“การตรวจหาเชื้อ” จึงไม่มีความจําเป็น ไม่มีประโยชน์ใด ๆ และสร้างความสับสน เพราะสิ่งที่พบ คือ สารพันธุกรรม ที่เหลืออยู่ (ซากเชื้อ) ไม่สามารถก่อโรคได้ แต่ทําให้เข้าใจผิดว่า บุคคลนั้นยังไม่หายจากโรคทั้ง ๆ ที่ความจริงคือ หายป่วยและไม่แพร่เชื้อแล้ว
ขอบคุณข้อมูล โรงพยาบาลพญาไท