วัคซีนสร้าง "ภูมิคุ้มกัน" ต่อ BA.2 มากกว่า BA.1 แนะฉีดเข็มกระตุ้นลดป่วยหนัก
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผบ การฉีดวัคซีนช่วยสร้าง "ภูมิคุ้มกัน" ต่อ BA.2 มากกว่า BA.1 แนะฉีดเข็มกระตุ้นลดการป่วยหนัก พบฉีด ซิโนแวค หรือ แอสตราเซนเนกา 2 เข็ม ผ่านไป 1 เดือน ภูมิแทบไม่เหลือ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่ามีการติดตามตรวจ "ภูมิคุ้มกัน" หลังฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ระบาดเป็นระลอกที่ 5 โดยสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดหลัก คือ โอไมครอน และมีการกลายพนธุ์สายพันธุ์ย่อยๆ ทำให้ยอดรวมสะสมกว่า 3 ล้านคน มีการติดเชื้อวันละหลายหมื่นคน (ไม่รวม ATK)
ผลการสุ่มตรวจสายพันธุ์พบ BA.2 คิดเป็น 95.9% เหลือ BA.1 อยู่เพียง 4% คาดการณ์ว่าอีก 1-2 สัปดาห์ BA.2 จะเป็น 100% ส่วนเดลตาในประเทศไทยแทบจะตรวจไม่พบแล้ว
จากการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันหลังวัคซีน พบว่าคนที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม 5 สูตร และ 3 เข็ม 5 สูตร ไม่ว่าจะฉีดสูตรใด ภูมิต้านทานหลังฉีด 2 สัปดาห์ สามารถจัดการกับ BA.2 มากกว่า BA.1 จึงไม่ต้องกังวลว่าฉีดวัคซีนแล้วจะป้องกันไม่ได้ และที่บอกว่า BA.2 หลบ "ภูมิคุ้มกัน" ได้มากกว่าอาจไม่เป็นความจริง
อย่างไรก็ตาม "ภูมิคุ้มกัน" หลังฉีดวัคซีน 2 เข็ม ภูมิตกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อผ่านไป 1 เดือน ซิโนแวค หรือ แอสตราเซนเนกา ภูมิแทบไม่เหลือ แต่เมื่อกระตุ้นด้วยเข็มที่ 3 ไม่ว่าจะฉีดด้วยแอสตราเซนเนกา หรือไฟเซอร์ พบว่าภูมิต้านทานขึ้นสูงมาก ดังนั้นคนที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มนานเกิน 1 เดือน "ภูมิคุ้มกัน" ต่อ BA.2 ไม่ดี ควรได้รับเข็มกระตุ้นโดยเร็ว
สำหรับผลการศึกษาในเชียงใหม่และกรมควบคุมโรค ศึกษาในคนที่เสียชีวิตต่อล้านคน พบว่า คนที่ไม่ฉีดวัคซีน เสียชีวิต 767 ต่อล้าน คนที่ฉีดหนึ่งเข็ม เสียชีวิต 366 คนต่อล้าน คนที่ฉีดสองเข็ม เสียชีวิต 145 คนต่อล้าน คนที่ฉีดเข็มสาม เสียชีวิต 25 คนต่อล้าน อัตราตายลดลง 31 เท่า ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีน 4 เข็ม ตัวเลขผู้ฉีดยังน้อยมาก และยังไม่พบผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีน 2 เข็ม ไม่พอแน่ การฉีดเข็มกระตุ้นจะช่วยเพิ่ม "ภูมิคุ้มกัน" เพื่อป้องกันการเกิดอาการหนัก หรือ ต้องนอนโรงพยาบาล และป้องกันการเกิดความรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบได้