"อาการลองโควิด" เกิดจากอะไร ทำไมถึงเป็น วัคซีนป้องกันได้มั้ย มีคำตอบแล้ว
"อาการลองโควิด" เป็นอาการที่ผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่มักจะเป็นต่อหลังสิ้นสุดการติดเชื้อ ซึ่งเกิดจากอะไร อาการมีอะไรบ้าง วัคซีนสามารถช่วยได้หรือไม่ มีคำตอบมาให้แล้ว
ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อหายจากอาการป่วยหรือหายจากการติดเชื้อแล้ว สิ่งที่ส่วนใหญ่มักกังวลต่อคือเรื่องของการเกิด "อาการลองโควิด" Long COVID ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่หายจากการติดเชื้อเป็นส่วนใหญ่ โดย Long COVID คือ อาการทางร่างกายและทางจิตใจ ที่หลงเหลืออยู่ หลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 อาจเป็นผลกระทบทางตรงจากร่องรอยของโรค หรือเป็นผลกระทบทางอ้อมที่มาจากช่วงที่เคยติดเชื้อก็ได้
องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ข้อมูลว่า "อาการลองโควิด" มีความเป็นไปได้ที่หลากหลายมาก มีทั้งอาการที่คล้ายกับตอนเป็นโควิด-19 และอาการที่ดูไม่เกี่ยวข้องกันเลย
ซึ่งลักษณะอาการสามารถพบได้ 200 อาการ โดยพบได้ในทุกระบบของร่างกาย แบ่งอาการที่พบบ่อยได้ 3 กลุ่ม
1. อ่อนเพลีย
2. หายใจไม่เต็มอิ่ม ทำกิจกรรมปกติได้ลดลง เหนื่อยง่ายขึ้น
3. ภาวะสมองเสื่อม เช่น ขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อในสิ่งที่จะทำ ความจำลดลง มีปัญหาการนอนหลับ ความสามารถในการควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมลดลง
อาจพบอาการอื่น ๆ อีก เช่น
- ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองอุดตัน ลิ่มเลือดอุดตันในอวัยวะต่างๆ
- ปวดหู หรือ มีเสียงในหู
- ปวดท้อง ท้องเสีย กินอาหารได้น้อยลง
- ชา ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
- ไม่ได้กลิ่น รับรสได้ไม่ดี
- ผื่นตามตัว ผมร่วง
- รอบประจำเดือนมาไม่ปกติ
- มีไข้ ไอ ปวดหัว เจ็บคอ
- เวียนศีรษะ
- อาจมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
โดยหลังหายจากโควิด-19 เราควรตรวจร่างกายเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ และควรหมั่นสังเกตประเมินร่างกายตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะกลุ่มอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ อาการเหนื่อยง่าย และภาวะสมองล้า หากมีอาการผิดปกติที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาและฟื้นฟูอย่างตรงจุด ให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
"อาการลองโควิด" มีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 30-50% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว อาจเกิดหลังจากที่ได้รับเชื้อมาแล้ว 4-12 สัปดาห์ขึ้นไป มีรายงานว่าพบผู้ป่วย Long COVID ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (โดยเฉพาะในวัยทำงาน)
สาเหตุเกิด "อาการลองโควิด"
- มีเชื้อไวรัสหลงเหลือในอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดอักเสบต่อเนื่อง
- การอักเสบในหลายอวัยวะ ทำให้อวัยวะผิดปกติแบบถาวร ส่วต่อสุขภาพระยะยาว
- ผลกระทบจากการรักษา และนอนโรงพยาบาลในระยะเวลานาน
- ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ภายหลังการติดเชื้อ
กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะดังกล่าว ได้แก่ ผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว (ผู้ป่วยสีเหลืองไปจนถึงสีแดง) โดยเฉพาะในกรณีที่เชื้อลงปอด แล้วเกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรง เนื่องจากจะเกิดรอยโรคที่มีในปอดได้มากกว่า และใช้ระยะเวลาฟื้นตัวนานกว่า
นอกจากนี้ อีกกลุ่มที่ควรเฝ้าระวัง เพราะมีโอกาสได้รับผลกระทบของโรคที่รุนแรงและฟื้นตัวได้ยากกว่า คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ป่วยโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเบาหวาน รวมถึงกลุ่มผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
อย่างไรก็ดี มีรายงานผู้ป่วยที่ไม่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง แต่ก็ยังมีอาการ Long COVID ได้ ดังนั้น แม้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่การไม่ประมาทไว้ก่อน จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อและลดโอกาสที่จะเป็น Long COVID ที่ดีที่สุด
ในเด็กหลังติดโควิด อาจพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ที่เรียกว่า MIS-C
Multisystem inflammatory syndrome in children (MIS-C) ซึ่งเป็นภาวะหลังจากที่เด็กติดโควิดแล้วมีเกิดอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่สูงผิดปกติ อาจมีอาการคล้ายโรคคาวะซากิ เช่น มีไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในไอซียู หรือมีภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้
วัคซีนโควิดช่วยป้องกัน Long COVID (ลองโควิด) ได้หรือไม่ ?
มีรายงานที่น่าสนใจพบว่า ผู้ป่วยบางส่วนที่มีปัญหา Long COVID เป็นเวลานาน มีอาการที่ดีขึ้นหลังได้รับการฉีดวัคซีน แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีการคาดการณ์สาเหตุว่า อาจมาจากการตอบสนองต่อการกระตุ้นของวัคซีน ทำให้ภูมิคุ้มกันมีความเปลี่ยนแปลงหรือถูก reset ให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ
นอกจากนี้ การได้รับวัคซีนก่อนได้รับเชื้อ จะช่วยลดโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงด้วย ส่งผลให้โอกาสเกิด Long COVID มีน้อยลง หรือหากว่ามี ก็ลดโอกาสที่จะรุนแรงได้
ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลพระราม 9 // สสส.