"โอไมครอน" ไทยขาลง จับตากลายพันธุ์ BA.2.12.1 แพร่เร็วกว่า ซ้ำรอยนิวยอร์ก
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เผยข้อมูลใหม่ "โอไมครอน" ไทยขาลงแล้ว แต่จับตากลายพันธุ์ BA.2.12.1 แพร่เร็วกว่า ซ้ำรอยนิวยอร์ก
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดีอัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด สายพันธุ์ "โอไมครอน" ผ่านเฟซบุ๊ค Center for Medical Genomics ระบุว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐเอเมริกา (U.S. CDC) รายงานเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ว่า "โอไมครอน" สายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ในอเมริกาขณะนี้ ยังเป็น "BA.2"
แต่ให้จับตาโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย "BA.2.12.1" ที่กลายพันธุ์มาจาก BA.2 ซึ่งพบว่ามีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยพบในสัดส่วน 1 ใน 5 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศสหรัฐ และพบมากที่สุดในรัฐนิวยอร์ก
สำหรับโอไมครอนในประเทศไทย จากข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมที่ถอดมาต่อเนื่อง บ่งชี้ว่า ดำเนินมาสู่ช่วงขาลง แต่สมาชิกสำคัญในกลุ่มคือ
- BA.1 ลดระดับลงจนสูญพันธุ์ไปแล้วในประเทศไทย
- BA.2 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
- แต่ที่ต้องระวังสมาชิกอื่นของโอไมครอนด้วยเช่นกันคือ "BA.2.12" ที่กำลังแพร่ระบาดในไทยเพิ่มขึ้น (ภาพ) หากเกิดการกลายพันธุ์ในส่วนโปรตีนหนามอีกเพียงตำแหน่งเดียวคือ "L452Q" อาจกลายพันธุ์เป็น "BA.2.12.1" ที่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับที่เกิดขึ้นที่รัฐนิวยอร์กในขณะนี้
หากวิเคราะห์ถึงความได้เปรียบในการเติบโต-การแพร่ระบาด (relative growth advantage) ของไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 ทั่วโลกพบว่า
1. โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 คำนวณจากรหัสพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 จากทั่วโลกมี “Relative growth advantage” สูงที่สุดคือ 59% รองลงมาคือ BA.2 ประมาณ 41% จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ BA.4 จะระบาดไปทั่วโลกแทนที่ BA.2 ในเร็ววันนี้ (ภาพ 2-3)
2. ประเทศไทยมีโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งมี “Relative growth advantage” (คำนวณจากรหัสพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ระบาดในไทย) สูงที่สุดคือ 51% รองลงมาคือ BA.1 ติดลบประมาณ -21 % โดยในขณะนี้ BA.2 ได้ระบาดมาแทนที่ BA.1 เป็นที่เรียบร้อย และ BA.1 ในไทยกำลังชะลอการกลายพันธุ์ เข้าสู่โหมดของการสูญพันธุ์ จากการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมที่แชร์ข้อมูลใน “GISAID” ยังไม่พบ BA.4 และ BA.5 ในประเทศไทย (17/4/2565)
3. แต่ที่ควรเฝ้าระวังในช่วงนี้เป็นอย่างมากคือโอไมครอน 2 สายพันธุ์ย่อยซึ่งปรากฏที่รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่เป็นลูกหลานของ BA.2 คือ BA.2.12 และ BA.2.12.1 ที่มีการระบาดเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว (ภาพ 5) สายพันธุ์ย่อย “BA.2.12.1” ที่นิวยอร์กบริเวณแหนมมีการกลายพันธุ์ต่างไปจาก BA.2 และ BA.2.12 เพียงหนึ่งตำแหน่งคือ "L452Q" (ภาพ 2,2.1) แต่สามารถส่งผลให้มี “Relative growth advantage” เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก(ในนิวยอร์ก) ถึง 96% รองลงมาคือ BA.2.12 ประมาณ 47 % จึงต้องจับตาโอไมครอนสองสายพันธุ์ย่อยอย่างใกล้ชิดว่าหลุดออกมาจากอเมริกาและระบาดไปทั่วโลกหรือไม่
4. ในประเทศไทยยังไม่พบโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.2.12.1”
5. ประเทศไทยพบโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.2.12” ไม่น้อยกว่า 186 ตัวอย่าง แต่โชคดีที่ในประเทศไทย “BA.2.12 มี “Relative growth advantage” เพียง 34% (ภาพ 6) ซึ่งน้อยกว่า BA.2 ที่กำลังระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทยในขณะนี้ ซึ่งมี “Relative growth advantage” สูงกว่าคือ 51% (ภาพ 4) ดังนั้น BA.2.12 ไม่น่าจะสามารถระบาดเข้ามาแทนที่ BA.2 ในประเทศไทยได้
6. ส่วนโอไมครอนสายพันธุ์ลูกผสม XE มี “Relative growth advantage” ลดเหลือเพียง 17% ในขณะที่เดลตาครอน XD (สายพันธุ์ลูกผสมระหว่างเดลตา AY.4 และโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1) มี “Relative growth advantage” ต่ำติดลบในขณะนี้คือ “-6%” อันหมายถึงสองสายพันธุ์ลูกผสมกำลังชะลอการกลายพันธุ์และปรับตัวเข้าสู่โหมดสูญพันธุ์