โควิด-19

"นายกฯ" ย้ำประชาชนเข้มโควิด สั่ง "สธ." ลดจำนวนผู้เสียชีวิต

"นายกฯ" ย้ำประชาชนเข้มโควิด สั่ง "สธ." ลดจำนวนผู้เสียชีวิต

24 เม.ย. 2565

พล.อ.ประยุทธ์ "นายกฯ" สั่ง "สธ." ลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้น้อยที่สุด เน้นดูแลผู้ป่วยสีเหลือง-สีแดง เร่งให้ปชช.มารับวัคซีนโควิด-19 เข็มปกติ-เข็มกระตุ้น

ตัวเลขผู้เสียชีวิตของประเทศไทยจากการติดเชื้อโควิด-19 หลังจากหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพิ่มจำนวนเกิน100 คนต่อวัน มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากผู้นำประเทศในเรื่องนี้

 

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันนี้ มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ รวม 17,784 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 17,706 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 78 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,942,439 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 22,846 ราย หายป่วยสะสม 1,786,451 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 183,154 ราย เสียชีวิต 126 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,929 ราย เฉลี่ยจังหวัดละ 25 ราย อัตราครองเตียง ร้อยละ 24.5

นายธนกร ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ย้ำประชาชนและทุกภาคส่วน ยังคงต้องเข้มข้นในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด -19 อย่างเคร่งครัด เพื่อลดอัตราการติดเชื้อที่อาจจะเพิ่มขึ้น แม้ผู้ติดเชื้อในประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาการสีเขียวที่สามารถรักษาได้ในรูปแบบ โฮมไอโซเลชั่น (HI) คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (CI) และแบบผู้ป่วยนอก “เจอ แจก จบ” นายธนกร กล่าวว่า

 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กำหนดแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1.กลุ่มที่ไม่มีอาการ ไม่ต้องกินยาต้านไวรัส อาจให้ยาฟ้าทลายโจร ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

 

2.กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง พิจารณาให้ฟาวิพีราเวียร์ เร็วที่สุด

 

3.กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรงหรือกลุ่มที่มีปอดอักเสบ แต่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน พิจารณาให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด โดยประเมินจากประวัติวัคซีนและปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง

 

4.กลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจน พิจารณาให้เรมเดซิเวียร์ อย่างเร็วที่สุด

 

นายธนกร กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขยังดำเนินการตามนโยบาย และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้น้อยที่สุด โดยเน้นการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง ที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิต และเร่งรณรงค์ให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น(บูสเตอร์โดส)ด้วย