"โอไมครอน" BA.4-BA.5 จ่อระบาด หากป้องกันไม่ดี แพร่ไวกว่า ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน
"หมอธีระ" ระบุ "โอไมครอน" สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 อาจก่อให้เกิดการระบาดใหม่ หากป้องกันไม่ดี พบแพร่เชื้อไวกว่า ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน พบอาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า จากคนที่เป็น Long COVID สูง 60%
สถานการณ์การระบาด "โอไมครอน" ในประเทศไทย แม้จะมียอดผู้ติดเชื้อลดลง แต่ยอดผู้เสียชีวิตยังมีจำนวนที่สูงอยู่ โดย "หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK ในไทย ยังสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก
ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 27.5% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชียหากดูจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อวัน รวม ATK ไทยเราจะติดอันดับ Top 10 ของโลกมาติดต่อกันยาวนานถึง 43 วันแล้ว ส่วนจำนวนการเสียชีวิตต่อวันนั้น ติดอันดับ Top 10 ต่อเนื่องมาแล้ว 14 วัน
ขณะที่ ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 548,940 คน ตายเพิ่ม 2,170 คน รวมแล้วติดไปรวม 512,712,863 คน เสียชีวิตรวม 6,258,641 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน อิตาลี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
อัพเดตสายพันธุ์ Omicron BA.4 และ BA.5
หากจำกันได้ ไม่กี่วันก่อนทางองค์การอนามัยโลกระบุในรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update ว่าต้องจับตาดูสายพันธุ์
ย่อยของ "โอไมครอน" คือ BA.4, BA.5, และ BA.2.12
ข้อมูลล่าสุดเมื่อคืนนี้จาก Sigallab ประเทศแอฟริกาใต้ ยืนยันว่าภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อสายพันธุ์เดิมของ "โอไมครอน" คือ BA.1 นั้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อของสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ได้ ด้วยความรู้จนถึงตอนนี้ BA.4 และ BA.5 น่าจะมีโอกาสที่จะนำไปสู่การแพร่ระบาดใหม่ (new wave) ได้ หากไม่ป้องกันให้ดี เพราะมีสมรรถนะในการแพร่ได้ไวกว่า BA.2 และดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมของ "โอไมครอน" BA.1
เชื่อว่าสายพันธุ์ทั้งสองน่าจะมาจากการมีแหล่งที่เพาะบ่มการติดเชื้อเป็นเวลานาน เช่น คนที่ติดเชื้อเรื้อรัง (chronic infection) หรือมาจากสัตว์ที่เป็นรังโรค (reservoir)
ไทยเรานั้น เปิดประเทศเดือนพฤษภาคม จะมีคนเดินทางมามากขึ้น การป้องกันตัวระหว่างการดำเนินชีวิตเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ในสังคมมีมาก ทั้งเรื่องการเปิดเรียน และจำนวนการติดเชื้อใหม่รายวันที่สูงติดอันดับ Top ten ของโลกมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 6 สัปดาห์แล้ว
อัพเดต Long COVID
อาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้ามีแนวโน้มยาวนานกว่าปี การศึกษาจาก Fernández-de-las-Peñas C และทีมวิจัยในสเปน ติดตามผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 1,593 คน ซึ่งเคยติดเชื้อ แล้วได้รับดูแลรักษาในโรงพยาบาล พบว่าหลังออกจากโรงพยาบาลไป มีคนที่ประสบปัญหา Long COVID โดยอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าสูงถึง 60% และแม้เวลาผ่านไปกว่าหนึ่งปี ก็ยังมีคนที่ยังคงมีอาการดังกล่าวในสัดส่วนใกล้เคียงเดิม ลดลงไม่มาก
การศึกษานี้จึงสะท้อนให้เราเห็นความสำคัญในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ ย่อมจะดีกว่า เพราะหากเกิดติดเชื้อแล้วจับพลัดจับผลูเป็น Long COVID ก็ย่อมส่งผลบั่นทอนสมรรถนะในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงการทำงานได้ในระยะยาว
ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น ระมัดระวังกิจกรรมเสี่ยงและสถานที่เสี่ยงต่างๆ