"โอไมครอน" ไม่กระจอก ผลวิจัยใหม่ตอกย้ำ รุนแรงเหมือนสายพันธุ์อื่น
เปิดผลวิจัยใหม่ ตอกย้ำ โควิด "โอไมครอน" ไม่กระจอก พบ รุนแรงเหมือนสายพันธุ์อื่น เปิดสาเหตุเพราะอะไร พบไม่ตรงกัน
อัปเดตสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ โอมิครอน (Omicron) ซึ่งจากข้อมูลเดิม รวมทั้งจากหลาย ๆ การศึกษาทั่วโลกของสายพันธุ์ "โอไมครอน" คือ แพร่กระจายเชื้อได้ดีกว่า แต่มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ
แต่ล่าสุด ผลวิจัยจากโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์เจเนอรัล มหาวิทยาลัยมิเนอร์วา และโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด การศึกษาขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่งในสหรัฐฯ เผยแพร่บน
Research Square เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กลับได้ข้อสรุปที่ขัดแย้งกับสมมติฐานดังกล่าว โดยระบุว่า โควิด-19 สายพันธุ "โอไมครอน" นั้น มีความรุนแรงโดยเนื้อแท้เหมือนกับโควิด-19 สายพันธุ์ก่อนหน้านี้
ดร.อาร์จุน เวนกะเดช จากโรงเรียนแพทย์เยล ผู้ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยนี้ กล่าวว่า การศึกษาครั้งใหม่นี้ อิงตามข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 130,000 ราย
ในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐฯ โดยให้ความเห็นว่า เป็นการศึกษาที่พิเศษ และค่อนข้างน่าเชื่อถือ
ทีมวิจัยกล่าวว่า เราพบว่า ความเสี่ยงของการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตเกือบจะเท่ากัน ระหว่างยุคการระบาดของ "โอไมครอน" กับช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีสายพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไป
โดยทีมวิจัยระบุในการศึกษาว่า การที่มีสมมติฐานว่า "โอไมครอน" แพร่เร็วแต่ไม่รุนแรงนั้น อาจเกิดจาก "ปัจจัยรบกวน" จำนวนหนึ่ง ที่ส่งผลให้เกิดการตีความความรุนแรงของโอไมครอนผิด เช่น วัคซีนและการรักษาใหม่ ๆ มาตรการด้านสาธารณสุข ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของกลุ่มเปราะบาง (เช่น กลุ่ม 608 ในไทยที่เข้าถึงวัคซีนและการรักษามากขึ้นกว่าช่วงแรก) เป็นต้น เพื่อลดปัจจัยรบกวนในการเปรียบเทียบความรุนแรงของสายพันธุ์โอไมครอนกับสายพันธุ์อื่นก่อนหน้า ทีมวิจัยจึงได้ใช้วิธีการ Inverse Probability of Treatment Weighting (IPTW) เชื่อมโยงข้อมูลการลงทะเบียนวัคซีนทั่วทั้งรัฐแมสซาชูเซตส์และบันทึกสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ป่วยโควิด-19 ในแมสซาชูเซตส์
ซึ่งหลังผ่านกระบวนการศึกษา ทีมวิจัยพบว่า หลังจากพิจารณาปัจจัยรบกวนแล้ว สายพันธุ์ "โอไมครอน" มีความรุนแรงพอ ๆ กับสายพันธุ์อื่นที่ระบาดก่อนหน้า ทั้งนี้ ทีมวิจัยบอกว่า การศึกษานี้ยังมีข้อจำกัดที่อาจเกิดขึ้น เช่น ความเป็นไปได้ที่การวิเคราะห์จะประเมินจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนล่าสุดต่ำกว่าความเป็นจริง และจำนวนรวมของการติดเชื้อ เนื่องจากไม่ได้รวมผู้ติดเชื้อที่ทำการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ที่บ้าน
ขณะนี้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มพบปัญหาว่า พลเมืองของตนไม่ต้องการรับวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายประเทศกล่าวว่า "โอไมครอน" มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าอย่างเดลตา ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนมีความคิดฉีดวัคซีนโควิด-19 น้อยลง
เวนกะเดชกล่าวว่า การศึกษาใหม่นี้เป็นอีกหนึ่งหลักฐานว่า วัคซีนโควิด-19 ช่วยผู้คนจากผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจาก "โอไมครอน" ได้ โดยบอกว่า ที่อัตราการเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำในการระบาดของโอมิครอน เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้า ก็เป็นเพราะวัคซีนโควิด-19