โควิด-19

"โควิด" สธ.ประกาศลดระดับเตือนภัยเป็นระดับ 3 จากระดับ 4 การระบาดเริ่มเบาลง

"โควิด" สธ.ประกาศลดระดับเตือนภัยเป็นระดับ 3 จากระดับ 4 การระบาดเริ่มเบาลง

09 พ.ค. 2565

"โควิด" สธ.ประกาศลดระดับเตือนภัยการระบาดเหลือระดับ 3 จากระดับ 4 แต่ยังขอความร่วมมืองดเข้าพื้นที่แออัด เผยสถานการ์การระบาดเริ่มคลี่คลายลง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์โรค "โควิด" ในประเทศไทย ว่า  ตามที่กังวลว่าหลังเทศกาลสงกรานต์จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่จากความร่วมมือทุกภาคส่วน ทำให้เราควบคุมได้ดีไม่มีการระบาดใหญ่ตามมา เป็นที่มาที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือ อีโอซี (EOC) ประกาศลดระดับการเตือนภัยจากระดับ 4 เหลือระดับ 3 ตามที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ประธานที่ประชุมฯ ประกาศเตือนภัยระดับ 4 ไว้เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในการงดไปสถานที่เสี่ยง ร่วมกลุ่มจำนวนมาก การเดินทางเข้าจังหวัดและการข้ามประเทศ อย่างไรก็ตาม การเตือนภัยเป็นส่วนของ สธ.ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมาตรการบังคับของศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.)

ก่อนหน้าที่ประเทศไทยเกิดการรระบาดเป็นจำนวนมาก  ดังนั้นสธ. จึงได้เตือนสถานการณ์ "โควิด" ระดับ 4  เหลือ ระดับ 3 คือ

1.การไปในสถานที่เสี่ยง ทุกคน งดเข้าสถานบันเทิง เลี่ยงเข้าสถานที่ระบบปิด มีการระบายอากาศไม่ดี และสถานที่แออัด

 2.การร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก  กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ซึ่งนับที่วัคซีน 3 เข็ม  ให้เลี่ยงการรวมกลุ่มกับคนจำนวนมาก 
3.การเดินทางข้ามพื้นที่  ข้ามจังหวัด กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์เลี่ยงใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท 
4.เดินทางเข้า-ออกประเทศ 
กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ งดเดินทางไปต่างประเทศ  คนทั่วไปเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศในส่วนของสถานที่เสี่ยงก็จะอยู่ที่สถานบันเทิง หลีกเลี่ยงเข้าพื้นที่แออัด ส่วนกิจกรรมอื่นๆ สามารถทำได้ 
 

นพ.โอภาส  กล่าวต่อว่า  ตามฉากทัศน์การระบาดของ "โควิด" ที่ได้คาดการณ์ไว้พบว่า แนวโน้มทั้งการติดเชื้อ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตเส้นกราฟลดต่ำลงเรื่อยๆ และมีแนวโน้มดีขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น ตามแผนการทำให้เป็นโรคประจำถิ่น ( Endemic) หรือ Post pandemic แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยในเดือนพฤษภาคม อยู่ระยะทรงตัว (Plateau) พบว่า 23 จังหวัด มีสถานการณ์คงตัว ประกอบด้วย พะเยา ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท กำแพงเพชร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุดรธานี หนองลัวลำภู สกลนคร นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ยโสธร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และมุกดาหาร อีก 54 จังหวัด ดีขึ้น จำนวนติดเชื้อลดลงชัดเจน ฉะนั้น แนวโน้มต่างๆ เข้าสู่ระยะหลังระบาดใหญ่เต็มที 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการสถานบันเทิง ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้พิจารณาเปิดพื้นที่นำร่องผับ บาร์ จะต้องมีการหารือในที่ประชุม ศบค.อีกครั้ง แม้สถานการณ์ค่อนข้างดีขึ้น แต่ยังเปลี่ยนเร็ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันหยุดพบว่า ประชาชนเริ่มเดินทางมากขึ้น ทำกิจกรรมต่างๆ ใกล้เคียงปกติมาก แต่ยังให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง