โควิด-19

ตะลึง สัตวแพทย์ ติด โควิด จาก "แมว" พบไทยเป็นที่แรกของโลก

ตะลึง สัตวแพทย์ ติด โควิด จาก "แมว" พบไทยเป็นที่แรกของโลก

20 มิ.ย. 2565

สื่อดังต่างประเทศมีรายงานผลการศึกษาในประเทศไทย พบว่า คนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จาก "แมว" เมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นเคสแรกที่พบการติดเชื้อจาก 'แมวสู่คน' แห่งแรกของโลก

วันนี้ 20 มิ.ย.65 พบรายงานจากสื่อต่างประเทศ ชื่อดังของสหรัฐฯ อย่าง The New York Times ได้มีการเผยแพร่งานวิจัยของประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2565 ผ่านวารสาร Emerging Infectious Diseases ของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (CDC)

 

โดยมีการระบุว่า มีรายงานผลการศึกษาในประเทศไทย พบว่า คนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จาก "แมว" เมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นเคสแรกที่พบการติดเชื้อจาก 'แมวสู่คน' อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่า ความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากแมวในภาพรวม ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ

โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เริ่มจากเมื่อวันที่ 4 ส.ค.64 มีพ่อลูกคู่หนึ่ง วัย 64 และ 32 ปี มีอาการป่วยและตรวจพบเชื้อโควิด-19 ที่กรุงเทพ แต่เนื่องจากเตียงเต็ม จึงถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 8 ส.ค.

 

 

ทั้ง 2 คนได้พา "แมว" ที่เลี้ยงมาด้วย เมื่อมาถึงแมวถูกส่งไปยังโรงพยาบาลสัตว์เพื่อทำการตรวจ โดยสัตวแพทย์หญิงวัย 32 ปี ตรวจหาเชื้อด้วยการแยงจมูกและทวารหนัก ซึ่งพบผลเป็นบวก ในขณะที่กำลังตรวจ ปรากฏว่าแมวได้จามใส่สัตวแพทย์ แม้จะมีการป้องกันโดยใส่ถุงมือ หน้ากากอนามัย แต่ไม่ได้ใส่เฟสชีลด์

ต่อมา ในวันที่ 13 ส.ค. หรือ 5 วันหลังจากนั้น สัตวแพทย์หญิงเริ่มมีอาการของการติดเชื้อโควิด-19 เช่น ไอและเป็นไข้ แต่ยังไม่ได้ไปพบแพทย์ จนกระทั่งวันที่ 15 ส.ค. ได้ตรวจพบผลเชื้อไวรัสเป็นบวก

 

 

เมื่อวิเคราะห์การศึกษาลำดับจีโนม  ประกอบกับระยะเวลาการติดเชื้อที่ใกล้เคียงกัน พบว่า การติดเชื้อของทั้งสัตวแพทย์หญิง "แมว" และเจ้าของอีก 2 คน มีความเกี่ยวข้องกันในทางระบาดวิทยา และเชื้อที่พบนั้นยังไม่มีการระบาดในพื้นที่ของ จ.สงขลา และเนื่องจากสัตวแพทย์หญิงไม่เคยพบกับเจ้าของแมวมาก่อน ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานในครั้งนี้คือ สัตวแพทย์น่าจะติดโควิด-19 มาจากการที่แมวจามใส่หน้า

 

 

ทีมนักวิจัยสรุปทิ้งท้ายว่า การศึกษาครั้งนี้ถือเป็นหลักฐานที่ชี้ถึงการแพร่ระบาดจากแมวสู่คน อย่างไรก็ดี อัตราการเกิดของการแพร่ระบาดแบบนี้ก็ถือว่าพบได้ไม่บ่อย เพราะแมวมีระยะเวลาการขับเชื้อ (viral shedding) ที่สั้นโดยเฉลี่ย คือ 5 วัน