โควิด-19

จับตา "โอไมครอน" BA.4-BA.5 อาจนำระบาดระลอกใหม่ ลงปอดง่าย หลบภูมิเก่ง

จับตา "โอไมครอน" BA.4-BA.5 อาจนำระบาดระลอกใหม่ ลงปอดง่าย หลบภูมิเก่ง

25 มิ.ย. 2565

จับตา "โอไมครอน" BA.4-BA.5 อาจเป็นสายพันธุ์หลักนำระบาดระลอกใหม่ พบแพร่เชื้อเร็ว กลายพันธุ์คล้ายเดลตา ลงปอดง่าย หลบภูมิเก่ง

ภายหลังจากการพบการระบาดของ "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ในประเทศไทย ซึ่งพบผู้ติดเชื้อแล้วหลายรายนั้น โดย กรมการแพทย์ได้ แถลงล่าสุด ว่า ความสามารถในการแพร่เชื้อนั้นมีมากกว่า BA.2 ลงปอดได้ง่าย และหลบภูมิได้มากขึ้น แต่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับความรุนแรง

 

จากผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการของแอฟริกาใต้พบว่า "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ที่เพิ่งค้นพบเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่เกิดจากการติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมและการฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งนี่อาจเป็นสัญญาณว่า ในอนาคตอันใกล้ อาจจะมีการระบาดของโควิด ระลอกใหม่ โดยมี "โอไมครอน" BA.4 และ BA.5 เป็นสายพันธุ์หลักของการระบาด

 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบตัวอย่างเลือด 39 ตัวอย่าง โดยมาจากผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด "โอไมครอน" สายพันธุ์ BA.1 และยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 24 คน ตัวอย่างจากผู้ที่ได้รับวัคซีน 15 คน โดย 8 คนได้รับวัคซีนโควิด ไฟเซอร์ และอีก 7 คนได้รับวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

 

ผลการตรวจเลือดกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อ "โอไมครอน" สายพันธุ์ BA.1 พบว่า การผลิตแอนติบอดีชนิด Neutralizing Antibody (NAb) ลดลงเกือบ 8 เท่าเมื่อนำมาทดสอบกับโควิด สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ส่วนตัวอย่างเลือดจากกลุ่มตัวอย่างผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนพบว่า ระดับการผลิตแอนติบอดี NAb ลดลงประมาณ 3 เท่า

 

ติดตามกระแสโซเชี่ยลเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/komchadluek/

 

ทีมวิจัยระบุว่า ระดับการสลายเชื้อ (Neutralize) ที่ต่ำเมื่อทดสอบกับ BA.4 และ BA.5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ไม่น่าจะป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการได้ดี สิ่งนี้อาจบ่งชี้ว่า จากความสามารถในการหลบหนีภูมิคุ้มกัน ทำให้ BA.4 และ BA.5 มีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดการติดเชื้อใหม่ระลอกใหม่ได้

 

มีการคาดการณ์ว่า แอฟริกาใต้อาจเผชิญกับการระบาดของโควิด ระลอกที่ 5 เร็วกว่าที่คาดไว้ โดยขณะนี้ แอฟริกาใต้มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเกิดจากการระบาดของ "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5

 

ขณะที่ทาง ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.4 กับ BA.5 แล้วหลายราย คาดว่า ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย ส่วนในยุโรปบางประเทศ มีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น 

 

ความน่ากังวลคือ "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนาม ทำให้จับกับเซลล์ปอดของมนุษย์ได้ดีขึ้น เหมือนกับสายพันธุ์เดลตาที่ระบาด และมีอาการติดเชื้อรุนแรงก่อนหน้านี้ ซึ่ง "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นตัวเชื่อมให้ผนังของหลายๆ เซลล์ หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว ดึงดูดให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อเข้ามาทำลาย จนเกิดการอักเสบของปอด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

 

ติดตามอ่านข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่ www.komchadluek.net