โควิด-19

"โควิด" คล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ ติดซ้ำได้ มีแนวโน้มระบาดใหม่ทุกปี

"โควิด" คล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ ติดซ้ำได้ มีแนวโน้มระบาดใหม่ทุกปี

29 มิ.ย. 2565

"หมอยง" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา ชี้ "โควิด" ลักษณะมีแนวโน้มจะคล้ายไข้หวัดใหญ่ จะมีการระบาดทุกปีและต้องพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่เรื่อย ๆ

วันที่ 29 มิถุนายน 2565 ศ.นพ. "ยง ภู่วรวรรณ" หรือ "หมอยง" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุถึงประเด็นของ "โควิด" ลักษณะมีแนวโน้มจะคล้ายไข้หวัดใหญ่ โดยรายละเอียดทั้งหมดมีดังนี้

 

 

"โควิด" ลักษณะมีแนวโน้มจะคล้ายไข้หวัดใหญ่

ยง ภู่วรวรรณ 29 มิถุนายน 2565

ไข้หวัดใหญ่มีการระบาดทุกปี สายพันธุ์ก็เปลี่ยนไปทุกปี การฉีดวัคซีนก็ต้องเปลี่ยนตามสายพันธุ์ทุกปี ไข้หวัดใหญ่เป็นแล้วเป็นอีกได้

ไวรัส covid 19 มีแนวโน้มเปลี่ยนสายพันธุ์มาตลอดตั้งแต่สายพันธุ์เดิมอู่ฮั่น มีการเปลี่ยนสายพันธุ์ใหม่เข้ามาแทนที่ จากสายพันธุ์ G เป็นสายพันธุ์ Alpha Delta และมาถึง Omicron จาก BA. 1 แทนที่กันมาตลอด และขณะนี้ BA.5 กำลังจะเข้ามาแทนที่ในที่สุด โดยสายพันธุ์เดิมก็จะหายไป

Covid19 เป็นแล้วก็สามารถเป็นอีกได้

การเปลี่ยนแปลงหลบหลีกภูมิต้านทาน เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปทุกปี ทำให้วัคซีนต้องฉีดทุกปี ตามสายพันธุ์ที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ขณะนี้ที่เราฉีดวัคซีนกันถึงแม้หลายครั้ง ก็ยังเป็นสายพันธุ์เดิม จึงไม่แปลกที่ฉีด 5 - 6 เข็มแล้วก็ยังเป็น

พฤติกรรมของ "โควิด" ก็ไม่แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ วัคซีนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตามสายพันธุ์ที่คาดว่าจะมีการระบาด

การให้วัคซีนสายพันธุ์เดิม ประสิทธิภาพในการป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคก็จะน้อยลง

ขณะที่เรามีภูมิต้านทานเป็นทุนเดิม การติดเชื้อถึงแม้จะต่างสายพันธุ์ ความรุนแรงของโรคก็ลดลงมาโดยตลอด

ในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสายพันธุ์ใหม่มาใช้ในประเทศ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีน ร่วมกับการติดเชื้อ โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน จะเป็นภูมิต้านทานแบบลูกผสม ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดซ้ำหรือลดความรุนแรงของโรคได้ดีกว่าการได้รับวัคซีนอย่างเดียว

การติดเชื้อจึงเปรียบเสมือนการได้รับวัคซีนในธรรมชาติ แต่จุดอ่อนก็คือ ผู้ที่เปราะบางจะมีความรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้

ดังนั้น วัคซีนในรุ่นต่อไปจะต้องเป็นการพัฒนาวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ให้ทันเพื่อให้เกิดภูมิต้านทานแบบลูกผสม เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ที่มีความจำเป็นให้ในกลุ่มเสี่ยงทุกปีตามสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลง