เปิด 2 ปัจจัย ทำไม "โอไมครอน" BA.5 แพร่เชื้อทั่วโลกไว ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน
"หมอธีระ" เปิด 2 ปัจจัยสำคัญ "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.5 แพร่เชื้อทั่วโลกไว พบอัตราการครองเตียง รพ.เอกชน สูงขึ้น ย้ำใส่หน้ากากป้องกัน
"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) เผยถึง สถานการณ์การแพร่ระบาด "โอไมครอน" เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 752,024 คน ตายเพิ่ม 1,339 คน รวมแล้วติดไป 559,504,675 คน เสียชีวิตรวม 6,371,019 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อิตาลี บราซิล สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
สำหรับสถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
"โอไมครอน" BA.5 นั้นแพร่ระบาดทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสองปัจจัยสำคัญคือ
1. ความแข็งแรงของไวรัส (Viral fitness) ที่มากกว่าทุกสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาก่อน โดยมีสมรรถนะการขยายวงการระบาดเร็วขึ้น (growth advantage) และหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น (immune evasion) ในขณะที่ความรุนแรงของโรค (severity) นั้น แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะฟันธง แต่หลายประเทศที่โดน BA.5 ระบาดมากนั้นก็พบว่าทำให้มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้นอย่างชัดเจน
แม้ว่าทั่วโลกจะได้มีการฉีดวัคซีนไปมากพอสมควรแล้วก็ตาม แต่ด้วยความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ฉีด และภูมิจากการที่เคยติดเชื้อมาก่อน ทำให้พบการติดเชื้อมากขึ้นอย่างมากทั้งในคนที่ไม่เคยติดมาก่อน รวมถึงคนที่เกิดการติดเชื้อซ้ำ (Reinfection)
ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงไม่แปลกใจที่มีหลายฝ่ายยกให้ BA.5 เป็นศัตรูที่น่ากลัวกว่าทุกสายพันธุ์ที่มีมา
2. ทั่วโลกมีการผ่อนคลายมาตรการ เสรีการเดินทางและการใช้ชีวิต หลายประเทศไม่ได้เน้นให้ประชาชนป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิต จึงทำให้เกิดการระบาดปะทุรุนแรงดังที่เห็นในปัจจุบัน
สิ่งที่จะเป็นปัญหาระยะยาวคือ ภาวะ Long COVID ซึ่งจะบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิตและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม
สำหรับสถานการณ์ของไทย ข้อมูล ณ 7 กรกฎาคม 2565
อัตราการครองเตียงในสถานพยาบาลภาครัฐในกรุงเทพมหานครนั้นอยู่ราว 40.36% (ครองเตียง 1,043 จากทั้งหมด 2,584 เตียงในทุกสังกัด) แต่อัตราการครองเตียงในสถานพยาบาลภาคเอกชนสูงถึง 74.6% (ครองเตียง 2,121 จากทั้งหมด 2,842 เตียง)
ทั้งนี้หากดูภาคเอกชน จะพบว่าเตียงระดับ 1 สำหรับผู้ป่วยอาการน้อยนั้นครองเตียงถึง 96.7% (1863/1916) จะเห็นได้ว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เข้าระบบ การดูแลรักษาของภาครัฐด้วยเหตุผลต่างๆ แม้จะมีข่าวว่า ตัวเลขติดเชื้อที่รวมคนที่มาใช้บริการเจอแจกจบอยู่ราว 30,000 คนต่อวัน แต่ด้วยข้อมูลโดยอ้อมจากลักษณะการเข้ารับบริการรักษาในโรงพยาบาลที่มีจำนวน และสัดส่วนในเอกชนสูงกว่ารัฐอย่างชัดเจนนั้น ทำให้เราต้องฉุกคิดว่า
สถานการณ์การติดเชื้อจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละวันนั้นคงต้องมากกว่าที่มีรายงานในระบบ ทั้งคนที่พอมีพอกิน ติดเชื้อแล้วรักษาเองตามที่ต่างๆ หรือคนที่มีปัญหาเศรษฐกิจ ติดเชื้อแล้วไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ด้วยข้อจำกัด เช่น ความจำเป็นที่จะต้องทำมาหากิน การลางาน ค่าเดินทาง ภาระทางครอบครัว ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - https://www.komchadluek.net/
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057