โควิด-19

เปิดประสิทธิภาพ "ยารักษาโควิด" แยกตามกลุ่ม ฟาวิพิราเวียร์ รักษาได้หรือไม่ ?

เปิดประสิทธิภาพ "ยารักษาโควิด" แยกตามกลุ่ม ฟาวิพิราเวียร์ รักษาได้หรือไม่ ?

10 ก.ย. 2565

เปิดประสิทธิภาพ "ยารักษาโควิด" แยกตามสีกลุ่ม "ผู้ป่วยโควิด" กลุ่มไหนรักษาที่บ้านได้ อาการแบบไหน ควรรับ ฟ้าทะลายโจร ขณะที่ ฟาวิพิราเวียร์ ใช้รักษาได้จริงหรือไม่ ?

สถานการณ์การระบาดของ โควิด ซึ่งเป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้การรักษามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ทั้งการคิดค้นวัคซีน ยาที่ใช้รักษาซึ่ง "ยารักษาโควิด" ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่จำเพาะกับเชื้อไวรัส โควิด19 ยาที่ใช้จึงเป็นการนำยาที่ใช้รักษาโรคอื่น อย่างเช่น ฟาวิพิราเวียร์ ที่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่า มีประโยชน์กับการรักษา ผู้ป่วยโควิด ซึ่งต้องมาดูว่าประสิทธิภาพแต่ละตัวจะเป็นอย่างไร โดยยาที่ใช้จะมีลักษณะแบ่งตามอาการของผู้ป่วย ดังนี้

 

ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะให้รักษาตัวที่บ้าน และได้รับยาที่รักษาตามอาการ ไม่ว่าจะเป็น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก โดยส่วนใหญ่จะได้รับยา ฟ้าทะลายโจร เพราะมีสรรพคุณในการ ลดการอักเสบ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปรับภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส

 

ยาฟ้าทะลายโจร ไม่สามารถป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ แต่ช่วยบรรเทาอาการที่ไม่รุนแรง ใช่ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดโรครุนแรง เช่น คัดจมูก มีน้ำมูก ลดโอกาสที่โรคจะลุกลามลงปอด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีน และปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด

 

ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง คือกลุ่มที่เริ่มมีความเสี่ยงของโรครุนแรง ส่วนใหญ่จะได้รับยา ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งมีทั้งรูปแบบที่เป็นเม็ดและเป็นน้ำ

 

สำหรับกลุ่มที่มักจะได้รับยา ฟาวิพิราเวียร์ คือ ผู้ป่วยที่เริ่มมีไข้สูง หรือ ผู้ป่วยที่มีอาการโรคร่วม กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวาน โรคอ้วน โรคไต โรคหัวใจ-ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่ยังไม่มีอาการ หรือใช้เพื่อป้องกันโรค

 

ฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาสำหรับรักษาไข้หวัดใหญ่ แต่เป็นยาที่ออกฤทธิ์กว้าง จึงใช้ได้กับโรคติดต่ออื่นๆ ขัดขวางการสร้าง RNA ของไวรัสชนิดต่างๆ ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส ทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์จนภูมิต้านทานของร่างกาย สามารถเข้าไปกำจัดไวรัสได้หมด ขณะที่ ผู้ที่มีภาวะซีด เป็นโรคไต โรคตับ อาจพบปัญหาเมื่อกินยาฟาวิพิราเวียร์ การใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

 

ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง จะได้รับ ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาที่ใช้กันมากในต่างประเทศ เป็นยาฉีด ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะมีอาการหนัก ไม่รู้สึกตัว กินยาไม่ได้ มีระบบดูดซึมไม่ดี ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์แล้วร่างกายไม่ตอบสนอง และเป็นหญิงตั้งครรภ์

 

เรมเดซิเวียร์ เป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสได้อย่างกว้างขวางเหมือนกับยาฟาวิพิราเวียร์ มีประสิทธิภาพดีต่ออาร์เอนเอ RNA ไวรัสหลายชนิด รวมถึงไวรัสก่อโรคอีโบลาและโคโรนาไวรัสชนิดต่างๆ

 

ในกรณีของโคโรนาไวรัสนั้น ผลการศึกษาในหลอดทดลองพบว่ายาเรมเดซิเวียร์ มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสโรคซาร์ส (SARS-CoV), ไวรัสโรคเมอร์ส (MERS-CoV) และไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) ยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส นอกจากนี้ยายังทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติและทำให้ไวรัสตาย คาดว่ายานี้มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างอื่นอีกรวมถึงอาจออกฤทธิ์ในขั้นตอนยับยั้งไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ในร่างกายคน

 

ยาชนิดอื่นที่แพทย์ใช้ในการรักษาผู้ป่วย โควิด19 ที่มีอาการหนัก

 

- คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นยาลดอาการอักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศข้อแนะนำให้ใช้ร่วมกับยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต กรมการแพทย์กำหนดแนวทางในการใช้ยาคอร์ติโคสตียรอยด์ ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง โดยอาจใช้ร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์,ยาโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์

 

- โลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ (Lopinavir / Ritonavir) เป็นยาต้านไวรัส HIV สูตรผสม ระหว่างโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ กรมการแพทย์กำหนดแนวทางการให้ยา 2 ตัวนี้ ร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง

 

ที่มา : โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website -  https://www.komchadluek.net/
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057